ReadyPlanet.com
dot
dot
วัดชัยชนะสงคราม
dot
bulletพระครูมงคลสุตาภรณ์
bulletพระร้อยเอกวิวัฒน์ วิวฑฺฒโน
bulletทำเนียบวัดชัยชนะสงคราม
bulletศาสนสถานที่สำคัญภายในวัด
bulletกำหนดการงานบุญภายในวัด
bulletกำหนดการอบรมปฎิบัติธรรม
bulletรวมรูปอัลปั๊ม Photo Gallary
bulletรวมคลิปวีดีโอทั่วไป
dot
สาระน่ารู้
dot
bulletบทสวดมนต์
bulletหลวงพ่อสด จันทสโร
bulletหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
bulletความรู้เกี่ยวกับวิชชาธรรมกาย
bulletความรู้เกี่ยวกับมโนมยิทธิ
bulletตำราวิชาธรรมกาย
bulletหนังสือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
bulletรวมคลิปคำสอนหลวงพ่อฤาษี
bulletประสบการณ์ฝึกสมาธิ หลวงป๋า
bulletวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
dot
รวมลิงค์ที่น่าสนใจ
dot
bulletพระไตรปิฎก
bulletวัดจันทาราม (วัดท่าซุง)
bulletหลวงตามหาบัว (วัดป่าบ้านตาด)
bulletพลังจิต.คอม
bulletดังตฤณ.คอม
bulletwisdominside.org
bulletพลังกายทิพย์ (คุณย่าเยาวเรศ)
bulletพลังชี่กง (อาจารย์หยาง)
bulletวัดถ้ำขวัญเมือง ชุมพร
bulletsiripong.net
dot
กรองอีเมลท่าน เพื่อรับข่าวสารทางวัด

dot




หลวงพ่อสด จันทสโร

ประวัติ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
หลวงพ่อวัดปากน้ำ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี


พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ

ประวัติก่อนบวช
                เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (สด) ท่านเกิดวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๗ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านตำบลนี้อยู่ฝั่งใต้ ตรงกันข้ามกับวัดสองพี่น้อง เป็นบุตรนายเงิน นางสุดใจ มีแก้วน้อย สกุลของท่านทำการค้าขาย มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา ๕ คน คือ:-)

                ๑. นางตา เจริญเรือง
                ๒. เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (สด มีแก้วน้อย)
                ๓. นายใส มีแก้วน้อย
                ๔. นายผูก มีแก้วน้อย
                ๕. นายสำรวย มีแก้วน้อย

                ญาติพี่น้องของหลวงพ่อวัดปากน้าแทบทุกคนนั้น คนสุดท้องตายก่อนแล้วเลื่อนมาตามลำดับชั้น คนโตหัวปีตายทีหลังแทบทุกคน เช่นพี่น้องหลวงพ่อวัดปากน้ำคนที่ ๕ ตายก่อนแล้วถึงคนที่ ๔ คนที่ ๓ แล้วตัวหลวงพ่อ อันดับที่ ๓ นั้นเพิ่งตายก่อนหลวงพ่อไม่ถึงเดือน คล้ายกับว่าจะรักษาระเบียบแห่งการตายไว้ มัจจุราชไม่ยอมให้ลักลั่นเป็นการผิดระเบียบ จนบัดนี้เหลือแต่คนที่ ๑

การศึกษาเมื่อเยาว์วัย 
                เรียนหนังสือวัดกับพระภิกษุน้าชายของท่าน ณ วัดสองพี่น้อง เมื่อพระภิกษุน้าชายลาสิกขาบทแล้ว ได้มาศึกษาอักขรสมัย ณ วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ในปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ เพราะชาติภูมิของบิดาอยู่ที่บางปลา ปรากฏว่าหลวงพ่อเรียนได้ดีสมสมัย และการศึกษาขั้นสุดท้ายของเด็กวัดในสมัยนั้น ก็คือเขียนอ่านหนังสือขอมได้คล่องแคล่ว อ่านหนังสือพระมาลัยซึ่งเขียนเป็นอักษรขอมเป็นบทเรียนขั้นสุดท้าย อ่านกันไปคนละหลาย ๆ จบ จนกว่าจะออกจากวัด ซึ่งจะเรียกกันสมัยนี้ว่าจบหลักสูตรการศึกษาก็ได้ การศึกษาของหลวงพ่อวัดปากน้ำอยู่ในลักษณะนี้ ท่านมีนิสัยจริงมาแต่เล็ก ๆ คือตั้งใจเรียนจริง ๆ ไม่ยอมอยู่หลังใคร

การอาชีพ 
                เมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว ออกจากวัดช่วยมารดาบิดาประกอบอาชีพเกี่ยวแก่การค้าขาย โดยซื้อข้าวบรรทุกเรือต่อล่องมาขายให้แก่โรงสีในกรุงเทพฯ บ้าง ที่นครชัยศรีบ้าง เมื่อสิ้นบุญบิดาแล้ว ได้รับหน้าที่ประกอบอาชีพสืบต่อมา ท่านเป็นคนรักงานและทำอะไรทำจริง ทั้งขยันขันแข็ง อาชีพการค้าจึงเจริญโดยลำดับ ทั้งวงศ์ญาติก็อุปการะ แทบจะพูดได้ว่าการค้าไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เพราะว่าตีราคาข้าวเปลือกตกลงราคากันแล้วขนข้าวลงเรือโดยยังไม่ต้องชำระเงินก่อน เมื่อขายข้าวแล้วจึงชำระเงินกันได้ อันเกี่ยวแก่การเชื่อใจกัน ท่านประกอบอาชีพนี้ตลอดมา จนปรากฏในยุคนั้นว่า เป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง

                ท่านเป็นคนมีนิสสัยชอบก้าวหน้า มุ่งไปสู่ความเจริญ ท่านพบกับญาติหรือคนชอบพอแล้วถามถึงการประกอบอาชีพ ถ้าทราบว่าผู้ใดเจริญขึ้นก็แสดงมุทิตาจิต เมื่อทราบว่าทรงตัวอยู่หรือทรุดลงท่านก็จะพูดว่า หากินอย่างไก่ หาได้ไม่มีเก็บ อย่างนี้ต้องจนตาย ควรหาอุบายใหม่

                เมื่ออายุ ๑๙ ปี ระหว่างที่ทำการค้าอยู่นั้น ความคิดอันประกอบด้วยความเบื่อหน่ายเกิดแก่ท่าน เป็นทั้งนี้ก็น่าจะลำบากใจอันเกี่ยวแก่อาชีพ เพราะต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำงานเลี้ยงมารดา และรับผิดชอบในกิจการต่าง ๆ โดยเกิดธรรมสังเวชขึ้นในใจว่า "การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า" เมื่อได้โอกาสท่านได้จุดธูปเทียนบูชาพระ อธิษฐานว่า "ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต" นี้ท่านบอกว่าเริ่มอธิษฐานมาตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี

                หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเล่าต่อไปว่า เมื่อตกลงใจบวชไม่สึกแล้ว จิตคิดเป็นห่วงมารดาเกิดขึ้น จึงขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์เพื่อให้มารดาเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต เมื่อจะเทียบราคาเงินในบัดนี้กับสมัยก่อน ๕๐ ปีที่ล่วงมานั้น ไกลกันมาก เพราะเมื่อก่อน ๕๐ ปี กล้วยน้ำว้า ๑๐๐ หวี เป็นราคา ๕๐ สตางค์ สมัยก่อนใช้อัฐ เรียกว่า ๑๐๐ ละ ๒ สลึง บางคราว ๑๐๐ เครือ ต่อเงิน ๒.๕๐ บาท เพราะเงินจำนวนชั่งที่หลวงพ่อวัดปากน้ำหาให้มารดานั้น ก็ย่อมมีราคาสูงสุดในสมัยนั้น และย่อมเป็นน้ำเงินที่อาจเลี้ยงชีวิตจนตายได้จริง ถ้าหากน้ำเงินไม่มีราคาต่ำลงเช่นปัจจุบันนี้ แต่ก็ประหลาดที่มารดาของท่านมีอายุยืนมาจนถึงยุคกล้วยน้ำว้าหวีละบาทกว่า

อุปสมบท 
                เดือนกรกฎาคม ๒๔๔๙ ต้นเดือน ๘ ท่านได้อุปสมบท เวลานั้นอายุย่างเข้า ๒๒ ปี บวช ณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร

                พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌายะ
                พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์
                พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

                คู่สวด อยู่วัดเดียวกัน คือวัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา ปวารณาพรรษาแล้ว เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ เพื่อเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่อไป

                การศึกษาของภิกษุสามเณรสมัยนั้น การเรียนบาลีต้องท่องสูตรก่อน เมื่อท่องจบสูตรเบื้องต้นแล้ว จึงเริ่มจับเรียนมูล เริ่มแต่เรียนสนธิขึ้นไป หลวงพ่อวัดปากน้ำเริ่มต้นโดยวิธีนี้แล้ว เรียน นาม สมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ แล้วเริ่มขึ้นคัมภีร์ จับแต่พระธรรมบทไป ท่านเรียนธรรมบทจบทั้ง ๒ บั้น เมื่อจบ ๒ บั้นแล้วกลับขึ้นต้นใหม่ เรียนมงคลทีปนีและสารสังคหะคามความนิยมของสมัย จนชำนาญและเข้าใจและสอนผู้อื่นได้

                เมื่อกำลังเรียนอยู่นั้น ท่านต้องพบกับความลำบากมาก สมัยนั้นเรียนกันตามกุฏิ ต้องเดินไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่าง ๆ เมื่อฉันเช้าแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัด เพลแล้วไปเรียนวัดมหาธาตุ ตอนเย็น ไปเรียนที่วัดสุทัศน์บ้าง วัดสามปลื้มบ้าง กลางคืนเรียนที่วัดพระเชตุพน แต่ไม่ได้ไปติด ๆ กันทุกวัน มีเว้นบ้าง สลับกันไป

                สมัยที่ท่านศึกษาอยู่นั้น กำลังนิยมใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลาน และนักเรียนที่ไปขอศึกษากับอาจารย์นั้น บทเรียนไม่เสมอกันต่างคนต่างเรียนตามสมัครใจ กล่าวคือบางองค์เรียนธรรมบทบั้นต้น บางองค์เรียนบั้นปลาย ยิ่งนักเรียนมาก หนังสือที่เอาไปโรงเรียนก็เพิ่มจำนวนขึ้น เช่นนักเรียน ๑๐ คน เรียนหนังสือกันคนละผูก นักเรียนที่ไปเรียนนั้นก็ต้องจัดหนังสือติดตัวไปครบจำนวนนักเรียน เป็นทั้งนี้ก็เพราะนอกจากเรียนตามบทเรียนของตนแล้วเอาหนังสือไปฟังบทเรียนของคนอื่นด้วย ช่วยให้ตนมีความรู้กว้างขวางขึ้น ฉะนั้นปรากฏว่านักเรียนต้องแบกหนังสือไปคนละหลายผูก แบกจนไหล่ลู่ คือว่าหนังสือเต็มบ่า

                หลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นนักเรียนประเภทดังกล่าว ท่านพยายามไม่ขาดเรียน แบกหนังสือข้ามฟากลงท่าประตูนกยูงวัดพระเชตุพนไปขึ้นท่าวัดอรุณฯ เข้าศึกษาในสำนักนั้น ท่านเล่าให้ฟังว่าลำบากอยู่หลายปี ความเพียรของท่านจนชาวประตูนกยูงเกิดความเลื่อมใสได้ปวารณาเรื่องภัตตาหาร คืออาราธนาท่านรับบิณฑบาตเป็นประจำและขาดสิ่งใดขอปวารณา ระยะนี้ท่านเริ่มมีความสุขขึ้น เรื่องภัตตาหารมีแม่ค้าขายข้าวแกงคนหนึ่งจัดอาหารเพลถวายเป็นประจำ แม่ค้าคนนี้ชื่อนวม เมื่อหลวงพ่อย้ายมาวัดปากน้ำ แม่ค้าผู้นี้ทุพพลภาพลงเพราะความชราขาดผู้อุปการะ ท่านได้รับตัวมาอยู่วัดปากน้ำได้อุปการะทุกวิถีทาง เมื่อสิ้นชีวิตก็ได้จัดการฌาปนกิจศพให้ หลวงพ่อว่าเป็นมหากุศล เมื่อเราอดอยาก อุบาสิกานวมได้อุปการะเรา ครั้นอุบาสิกานวมยากจน เราได้ช่วยอุปถัมภ์ ที่สุดต่อที่สุดมาพบกันจึงเป็นมหากุศลอันยากที่จะหาได้ง่าย ๆ

                ท่านเดินทางไปศึกษาในสำนักต่าง ๆ อยู่หลายปี ครั้นต่อมามีผู้เลื่อมใสในตัวท่านมากขึ้น พวกข้าหลวงในวังกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ซึ่งชาวบ้านใกล้เคียงเรียกว่า วังพระองค์เพ็ญ เลื่อมใสในท่าน เวลาเพลช่วยกันจัดสำรับคาวหวานมาถวายทุกวัน นับว่าเป็นกำลังส่งเสริมให้สะดวกแก่การศึกษาเป็นอย่างดี เมื่อได้กำลังในด้านส่งเสริมเช่นนี้ หลวงพ่อจึงจัดการตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดพระเชตุพน โดยใช้กุฏิของท่านเป็นโรงเรียน สมัยนั้นโรงเรียนวัดพระเชตุพนมีหลายแห่ง ใครมีความสามารถก็ตั้งได้ หลวงพ่อวัดปากน้ำสมัยนั้น ท่านได้พระมหาปี วสุตตมะ เปรียญ ๕ ประโยคเป็นครูสอน โดยท่านจัดหานิตยภัตถวายเอง มหาปี วสุตตมะ ผู้นี้มาจากวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนคร ติดตามพระสมเด็จพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) มา เมื่อคราวสมเด็จฯ จากวัดมหาธาตุมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ท่านตั้งโรงเรียนเองและเข้าศึกษาด้วยตนเอง ด้วยเรียนขึ้นธรรมบทใหม่ ท่านว่าฟื้นความจำทบทวนให้ดีขึ้น มีภิกษุสามเณรเข้าศึกษา ๑๐ กว่ารูป

                ต่อมาการศึกษาทางบาลีเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม ทางคณะสงฆ์จัดหลักสูตรการศึกษา เริ่มให้เรียนไวยากรณ์ วัดพระเชตุพนดำเนินตามแนวนั้น และได้รวมการศึกษาเป็นกลุ่มเดียวกัน การศึกษาตามแบบเก่าต้องยุบตัวเองเพื่อให้เข้ายุคไวยากรณ์ โรงเรียนที่กล่าวถึงนี้ก็ระงับไป

                หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ตั้งใจศึกษาจนเข้าใจตามหลักสูตรนั้น ๆ แต่ไม่ได้แปลในสนามหลวง แม้การสอบเปลี่ยนจากแปลด้วยปากมาเป็นสอบด้วยการเขียนตอบ ท่านก็ไม่ได้สอบ เพราะการเขียนของท่านไม่ถนัดมากนักและอีกประการหนึ่งท่านไม่ปราถนาด้วย แต่สำหรับผู้อื่นแล้วท่านส่งเสริมและให้กำลังใจ โดยพูดเสมอว่าการศึกษานั้นเปลี่ยนชีวิตผู้ศึกษาให้สูงกว่าพื้นเดิม คนที่มีการศึกษาดีจะได้อะไรก็ดีกว่า ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิ ใช้ไม่หมด

                ต่อจากนั้นท่านก็มุ่งธรรมปฏิบัติ เบื้องต้นอ่านตำราก่อน โดยมากใช้วิสุทธิมรรค ท่านศึกษาตามแบบแผนเพื่อจับเอาหลักให้ได้ก่อน ประกอบกับนักศึกษาทางปฏิบัติกับอาจารย์ท่านได้ผ่านอาจารย์มามาก เช่นเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (มุ้ย) อดีตเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ พระครูญาณวิรัต (โป๊) วัดพระเชตุพน พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ จังหวัดธนบุรี พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ใครว่าดีที่ไหนท่านพยายามเข้าศึกษา เมื่อมีความรู้พอสมควร ได้ออกจากวัดพระเชตุพนไปจำพรรษาต่างจังหวัดเพื่อเผยแพร่ธรรมวินัยตามอัธยาศัยของท่าน แต่ส่วนมากแนะนำทางปฏิบัติการเทศนาท่านใช้ปฏิภาณ

                แหล่งสุดท้ายได้ไปอยู่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี คราวหนึ่ง โดยเห็นว่าวัดนั้นเป็นที่สงัดสงบเหมาะสมแก่ผู้ที่ต้องการความเพียรทางใจ ไกลจากหมู่บ้านเป็นวัดโบราณมีลักษณะกึ่งวัดร้างอยู่แล้ว พระพุทธรูปศิลาองค์ใหญ่น้อยนับจำนวนร้อย ถูกทำร้ายเพราะอันธพาลบ้าง เพราะความเก่าคร่ำคร่าบ้าง พระเศียรหัก แขนหัก ดูเกลื่อนกล่นไปหมด ท่านเกิดความสังเวชในใจ ใช้วิชาพระกรรมฐานแนะนำประชาชน แนะนำผู้มีศรัทธาให้ช่วยปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเหล่านั้น พรรณนาอานิสงส์แห่งการเสียสละ พระพุทธรูปได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นบ้าง แต่เพราะมิใช่น้อยจึงต้องใช้เวลานาน การซ่อมนั้นยังไม่ทันสมความมุ่งหมาย ประชาชนได้เข้าปฏิบัติธรรมกันมาก

                สมัยนั้น การปกครองประเทศจัดเป็นมณฑล เจ้าเมืองสุพรรณบุรีและสมุหเทศาภิบาลเกรงว่าเป็นการมั่วสุมประชาชน วันหนึ่ง สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี ได้พบกับสมเด็จพระวันรัต (ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพน เวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะภาษีเจริญ ได้ปรารภถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำ ไปทำพระกรรมฐานที่นั่นจะเป็นการไม่เหมาะสมแก่ฐานะ ขอให้ทางคณะสงฆ์พิจารณาเรียกกลับ หลวงพ่อวัดปากน้ำจึงจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาด้วยความเคารพในการปกครอง แล้วมาอยู่วัดสองพี่น้อง จังหวัดเดียวกัน

                วัดสองพี่น้อง พระเถระในวัดนั้นไม่เห็นความสำคัญในการศึกษา มีบางท่านสนใจแต่ไม่สามารถจะจัดการไปได้ เพราะพระเถระส่วนใหญ่ไม่ส่งเสริม ผู้สนใจก็ส่งภิกษุสามเณรผู้ใคร่ต่อการศึกษามาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ หลวงพ่อวัดปากน้ำมาอยู่วัดสองพี่น้อง ได้เป็นกำลังตั้งโรงเรียนนักธรรมขึ้นโดยไม่ครั่นคร้ามต่ออุปสรรคใด ๆ ได้ผลสืบต่อมาจนทุกวันนี้ และท่านได้ชักชวนตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาขึ้น โดยมีคณะกรรมการมูลนิธินั้นได้เป็นทุนการศึกษามาจนทุกวันนี้ นับว่าท่านได้ทำความดีไว้แก่วัดสองพี่น้องเป็นเดิมมา

                สมเด็จพระวันรัต (ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพน ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ในยุคนั้นวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงวัดหนึ่งในอำเภอนั้นว่างเจ้าอาวาสลง พระคุณท่านหวังจะอนุเคราะห์หลวงพ่อวัดปากน้ำให้มีที่อยู่เป็นหลักฐาน หวังเอาตำแหน่งเจ้าอาวาสผูกหลวงพ่อไว้วัดปากน้ำ เพื่อไม่ให้เร่ร่อนไปโดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ครั้งแรกท่านได้พยายามปัดไม่ยอมรับหน้าที่ แต่ครั้นแล้วก็จำต้องยอมรับด้วยเหตุผล ก่อนจะส่งไปนั้น สมเด็จพระวันรัตตั้งข้อแม้ให้หลายข้อ เช่นห้ามแสดงอภินิหารและทำการเกินหน้าพระคณาธิการวัดใกล้เคียง ให้เคารพการปกครองตามลำดับ ให้อดทนเพื่อความสงบและไม่ให้ใช้อำนาจอย่างรุนแรง

                การที่เจ้าคณะอำเภอเอาความมั่นสัญญากับหลวงพ่อวัดปากน้ำเช่นนั้น เพราะเห็นว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำชอบทำสิ่งที่ตนเห็นว่าดีงาม ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำกิจอะไรให้เป็นประโยชน์ขึ้นแม้แก่ตัวเอง อนึ่งเจ้าคณะอำเภอได้ปกครองอำเภอนี้มานาน ซาบซึ้งถึงอัธยาศัยและความเป็นไปในอำเภอนั้นได้ดี เพราะจิตปรานีจะได้ไม่เกิดความกระทบกระเทือนแก่ใครผู้ใด หวังความสงบในการปกครองเป็นหลักสำคัญ เบื้องต้นหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านยอมรับด้วยดี เป็นทั้งนี้ก็เนื่องด้วยยังไม่เคยประสบความขัดข้อง เนื่องด้วยยังไม่เคยปกครองวัดมาก่อน

                พ.ศ. ๒๔๕๙ วันเดือนจำไม่ได้ ท่านได้จากวัดพระเชตุพนในฐานะเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ โดยเรือยนต์หลวงซึ่งกรมการศาสนาจัดถวายเพื่อเป็นเกียรติยศแก่พระอารามหลวง มีพระอนุจรติดตามมา ๔ รูป ทางกรมได้จัดสมณบริขารถวายเจ้าอาวาสและนิตยภัตอีก ๔ เดือน เดือนละ ๓๐ บาท พระอนุจร ๔ รูป รูปละ ๒๐ บาท เจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญนำมาส่งถึงวัดปากน้ำพร้อมด้วยพระเถรานุเถระและพระคณาธิการในอำเภอนั้นมากรูป มีคฤหัสถ์ชายหญิงหลายคนมาต้อนรับ ก่อนจะมาวัดปากน้ำท่านได้เป็นฐานานุกรมของเจ้าคุณพระศากยยุตติยวงศ์ เจ้าคณะอำเภอในตำแหน่งสมุห์ด้วย

                สภาพของวัดปากน้ำสมัยนั้นทุกอย่างไม่เรียบร้อย มีสภาพกึ่งวัดร้าง เป็นที่ควรแก้ไขให้เป็นวัดสมสภาพ งานเบื้องต้น หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ประชุมพระภิกษุสามเณรที่อยู่เดิมและมาใหม่ ท่านให้โอวาทปรับความเข้าใจแก่กันว่า

                "เจ้าคณะอำเภอส่งมาเพื่อให้รักษาวัด และปกครองตักเตือนว่ากล่าวผู้อยู่วัดโดยพระธรรมวินัย อันจะให้วัดเจริญได้ต้องอาศัยความพร้อมเพรียงและเห็นอกเห็นใจกันจึงจะทำความเจริญได้ ถิ่นนี้ไม่คุ้นเคยกับใครเลย มาอยู่นี้เท่ากับถูกปล่อยโดยไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะต่างไม่รู้จักกัน

                แต่ก็มั่นใจว่าธรรมที่พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระพุทธโอวาทจะประกาศความราบรื่น และรุ่งเรืองให้แก่ผู้มีความประพฤติเป็นสัมมาปฏิบัติ ธรรมวินัยเหล่านั้นจะกำกัดธรรมให้สูญสิ้นไป พวกเราบวชกันมาคนละมาก ๆ ปี ปฏิบัติธรรมเข้าขั้นไหน มีพระปาฏิโมกข์เรียบร้อยอย่างไร ทุกคนทราบความจริงของตนได้ ถ้าเป็นไปตามแนวพระธรรมวินัยก็น่าสรรเสริญ ถ้าผิดพระธรรมวินัยก็น่าเศร้าใจ เพราะตนเองก็ติเตียนตนเอง

                ได้เคยพบมาบ้าง แม้บวชตั้งนานนับเป็นสิบ ๆ ปี ก็ไม่มีภูมิจะสอนผู้อื่น จะเป็นที่พึ่งของศาสนาก็ไม่ได้ ได้แต่อาศัยศาสนาอย่างเดียวไม่ทำประโยชน์ให้เกิดแก่ตนและแก่ท่านซ้ำร้ายยังทำให้พระศาสนาเศร้าหมองอีกด้วย บวชอยู่อย่างนี้เหมือนตัวเสฉวน (เรื่องเสฉวนนี้หลวงพ่อท่านชอบพูดบ่อย ๆ ต่อมาก็หายไป) จะได้ประโยชน์อะไรในการบวช ในการอยู่วัด

                ฉันมาอยู่วัดปากน้ำ จะพยายามตั้งใจประพฤติให้เป็นไปตามแนวพระธรรมวินัย พวกพระเก่า ๆ จะร่วมกันก็ได้ หรือจะไม่ร่วมด้วยก็แล้วแต่อัธยาศัย ฉันไม่รบกวนด้วยอาการใด ๆ เพราะถือว่าทุกคนรู้สึกผิดชอบด้วยตนเองดีแล้ว ถ้าไม่ร่วมใจก็ขออย่าขัดขวาง ฉันก็จะไม่ขัดขวางผู้ไม่ร่วมมือเหมือนกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่ต้องช่วยกันรักษาระเบียบของวัด คนจะเข้าออกต้องบอกให้รู้ ที่แล้วมาไม่เกี่ยวข้อง เพราะยังไม่อยู่ในหน้าที่ จะพยายามรักษาเมื่ออยู่ในหน้าที่" นี้เป็นโอวาทที่หลวงพ่อให้แก่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา เมื่อไปปกครองวัดนั้นผู้เขียนได้ร่วมประชุมอยู่ด้วย

                ครั้นต่อไปถูกมรสุมขนาดหนัก โอวาทนั้นกลายเป็นคำพูดที่อวดดีไป แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านทำเป็นไม่รู้เท่าทัน ไม่ปริปากโต้แย้งอย่างไร แต่ภายในเร่งรัดกวดขันภิกษุสามเณรยิ่งขึ้น แต่กวดขันได้แต่พวกที่ติดตามและภิกษุสามเณรที่เข้าสำนักใหม่ เปิดการสอนกรรมฐานเป็นหลักฐานขึ้น ประชาชนต้อนรับด้วยปสาทะแต่ส่วนมากเป็นชาวบ้านตำบลเมืองอื่น และมาจากไกล ส่วนข้างเคียงก็มีบ้าง เวลาย่ำค่ำแล้วมีการอบรมภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาทุกวัน แล้วบำเพ็ญสมณธรรมด้วย ความดีเริ่มฉายรัศมี ความเดือดร้อนก็เป็นเงาแฝงมา

                เด็ก ๆ ที่ไม่ได้รับการศึกษารบกวนวัดมากแทบไม่มีเวลาว่าง ที่ชวนกันมาเอะอะในวัดและยิงนกเล่นเป็นภัยแก่วัด ครั้นจะตักเตือนว่ากล่าวหรือใช้อำนาจก็ไม่แน่ว่าจะเกิดความราบรื่น เพราะชาวบ้านแถวนั้นยังไม่เกิดความนิยมในท่าน เขานิยมพระพวกเก่ามากกว่า

ท่านพูดออกมาคำหนึ่งว่า เด็ก ๆ ที่ไร้การศึกษาเป็นคนรกชาติ มาเที่ยวรังแกวัด ต่อไปก็กลายเป็นพาลไม่ช้าท่านได้ตั้งโรงเรียนราษฎร์สำหรับวัดขึ้น โดยหาทุนค่าครูเอง ได้อุปการะจากท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล)บ้าง หลวงฤทธิ์ณรงค์รอน ธนบดีในคลองบางหลวง บ้านอยู่ข้างวัดสังข์กระจายบ้าง จากนายต่าง บุณยมานพ ธนบดีตลาดพลูบ้าง พระภิรมย์ราชาวาจรงค์ บ้านตรงข้ามหน้าวัดและท่านผู้มีศรัทธาอีกมากคน ทางกรรมการอำเภอส่งเสริมให้กิจการของโรงเรียนดำเนินไปโดยสะดวก

                นักเรียนจากจำนวนสิบ เป็นจำนวนร้อย จนถึงสามร้อยเศษ ให้ได้รับการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ภาวะของวัดปากน้ำค่อยดีขึ้น ผู้ปกครองเด็กนักเรียนเห็นบุญคุณของท่านเกิดความเลื่อมใส บางคนมาพูดว่าหลวงพ่อดีมาก ลูกหลานผมได้เข้าโรงเรียนเพราะหลวงพ่ออนุเคราะห์ นโยบายของหลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นเบื้องต้นให้คนเกรงใจวัดและเห็นบุญคุณของวัด การเกะกะระรานในวัดก็ค่อย ๆ จางไป บัดนี้แทบพูดได้ว่าไม่มีคนรังแกวัด ต่อมาทางปกครองได้ใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทางรัฐบาลได้จัดโรงเรียนสถานศึกษาทั่วถึงกัน ประจวบกับเจ้าอาวาสวัดขุนจันทร์ว่างลง เจ้าคณะจังหวัดธนบุรีมอบให้หลวงพ่อวัดปากน้ำรักษาการณ์วัดขุนจันทร์ ท่านได้ย้ายโรงเรียนภาษาไทยจากวัดปากน้ำไปตั้งการสอนที่วัดขุนจันทร์ ต่อมาทางวัดเห็นว่าหมดความจำเป็นจึงเลิกกิจการด้านนี้มอบให้รัฐบาลรับภาระ หลวงพ่อหันมาจัดการศึกษาทางบาลีและทางปฏิบัติธรรมต่อไป

                ต่อจากนั้นได้เริ่มจัดการศึกษานักธรรมและบาลีประจำสำนัก ครั้งแรกนักเรียนบาลีไปเรียนต่างวัด เช่น วัดอนงค์ วัดกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศ์ วัดมหาธาตุ วัดพระเชตุพนจังหวัดพระนคร ตามแต่นักเรียนจะสมัครใจสำนักไหน

                สมัยนั้น การคมนาคมใช้เรือจ้างและเรือยนต์ จังหวัดธนบุรียังไม่มีถนน สะพานพุทธยอดฟ้าฯ ยังไม่ได้สร้าง นักเรียนต้องลำบากด้วยการเดินทาง แต่สำเร็จด้วยการพยายามของนักเรียน วัดเพียงแต่ส่งเสริมและอุปการะ มีนักธรรมและเปรียญประจำสำนักขึ้นและเป็นมาด้วยการลำบาก

                การอบรมจิตใจดำเนินคู่กันมา ใครต้องการเรียนปริยัติเรียน ใครต้องการปฏิบัติธรรมปฏิบัติ ย่อมศึกษาได้ตามอัธยาศัย ไม่ได้อย่างเดียวคือไม่ยอมให้อยู่เปล่า ไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติก็ทำหน้าที่การบริหารไป กิจการของท่านอยู่ในความเพ่งเล็งของประชาชน โดยวิธีนี้ย่อมเป็นที่ภาคภูมิใจของท่านนัก ท่านพูดว่า ดอกไม้ที่หอมไม่ต้องเอาน้ำหอมมาพรมก็หอมเอง ใครจะห้ามไปได้ ซากศพไม่ต้องเอาของเหม็นมาละเลงใส่ ซากศพก็ต้องแสดงกลิ่นศพให้ปรากฏ ปิดกันไม่ได้ เพราะการขาดแคลนเรื่องอาหารการบริโภคมีอยู่เป็นประจำ หลวงพ่อวัดปากน้ำคิดแก้ไขด้วยวิธีเลี้ยงภิกษุสามเณรทั้งวัด โดยท่านรับภาระทั้งสิ้น ท่านเคยพูดว่ากินคนเดียวไม่พอกิน กินมากคนกินไม่หมด พวกแกคอยดู สำเร็จซีน่า อันความจริงส่วนตัว ท่านพอมีแก่สภาพแต่อัธยาศัยที่ทนอยู่ไม่ได้ จึงตั้งโรงครัวขึ้น เพื่ออุปการะแก่ผู้ปฏิบัติธรรมและนักศึกษาปริยัติ ท่านได้ปฏิบัติการเลี้ยงพระมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๙ จนถึง พ.ศ.๒๕๐๒ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว การเลี้ยงพระก็คงมีอยู่จนทุกวันนี้ นับเป็นเวลา ๔๔ ปี เริ่มต้นจนถึงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ อันเป็นวันมรณภาพ เริ่มแต่จำนวนภิกษุสามเณร ๒๐-๓๐ รูป จนถึง ๕๐๐ รูปเศษ

                การอบรมภิกษุสามเณร คฤหัสถ์ บรรพชิตนั้น ถือเป็นกิจสำคัญของหลวงพ่อวัดปากน้ำ เมื่อ พ.ศ. อะไรผู้เขียนจำไม่ได้ เกิดเรื่องอาชญากรรมขึ้นในวัด วันนั้น พระกมล ศิษย์ที่ถูกใจของท่านในด้านเทศนาใช้ปฏิภาณและด้านปฏิบัติชั้นดี ได้เทศนาหัวข้อธรรมเกี่ยวแก่พระกรรมฐานอยู่ หลวงพ่อฟังอยู่ด้วย (ต่อมา หลวงพ่อได้ส่งพระกมล นี้ไปอยู่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเผยแพร่ธรรม ทำงานอยู่ ๓-๔ ปี ก็ถึงมรณภาพ) เมื่อเสร็จการอบรมแล้วประมาณเวลา ๒๐.๐๐ น. ต่างกลับยังที่พักของตน มีผู้ลอบสังหารหลวงพ่อวัดปากน้ำที่หน้าศาลาการเปรียญ ขณะที่ท่านออกมาจากศาลาจะกลับกุฏิ ผู้ร้ายใช้ปืนยิงท่านถูกจีวรท่านทะลุ ๒ รู ยิงนายพร้อม อุปัฏฐากผู้ติดตามหลัง ถูกที่ปากทะลุแก้มเป็นบาดแผลสาหัส แต่ไม่ถึงแก่กรรม ท่านรอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ น่าจักเป็นเทวดาผู้รักษาวัดปากน้ำยังต้องการท่านอยู่จึงให้แคล้วคลาดอันตรายแห่งชีวิตอย่างหวุดหวิด ถ้าท่านสิ้นชีวิตในขณะนั้น วัดปากน้ำก็น่าจักไม่มีความหมายอะไรสำหรับท่านและคนทั่วไป

                ระยะนี้ความตึงเครียดกับเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญทวีขึ้นอีก เข้ากันไม่ติดดุจขมิ้นกับปูน ทางเจ้าคณะอำเภอว่าวัดปากน้ำผิดสัญญาต่อกันไม่ทำตามโอวาท ทางวัดปากน้ำก็ว่า จะให้งอมืองอเท้าเท่านั้นไม่ได้ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ชีวิตเป็นหมัน ท่านพูดแข็งแรงมาก ฟังท่านแล้วก็หนักใจ แล้วท่านก็ดำเนินปฏิปทารุดหน้าต่อไป คำว่าถอยหลังท่านไม่เคยใช้

                สมัยกำลังตั้งเนื้อตั้งตัว ท่านคิดก้าวหน้าไปไกลมาก กล่าวคือมีความตั้งใจมั่นในการศึกษา พูดมาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี ว่าจะสร้างโรงเรียนถาวรขนาด ๓ ชั้น จุนักเรียนได้ ๑,๐๐๐ คน ๒ ชั้นล่างให้เรียนปริยัติ ชั้นที่ ๓ จะให้เรียนปฏิบัติธรรม ถ้าหลังเดียวไม่พอจะสร้างขึ้นอีก ๑ หลัง ขนาดเดียวกัน ได้ฟังท่านสร้างวิมานบนอากาศมานาน ฟังแล้วก็ไม่ได้ใส่ใจ เพราะเกิดความคิดเห็นว่าย่อมเป็นไปไม่ได้ และปรารภต่อไปว่า เมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จแล้วจะจัดการฉลอง มีแจง ๕๐๐ โดยหาเจ้าภาพจัดสำรับคาวหวานองค์ละคู่ สมณบริขารพร้อม รวม ๕๐๐ ชุด เท่าจำนวนพระ ถ้าการเนิ่นช้าถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ จะจัดการฉลองโดยอาราธนาพระจำนวน ๒,๕๐๐ รูป พร้อมด้วยสมณบริขารดังกล่าวแล้วครบชุด เมื่อเสร็จแล้วสำรับคาวหวานขอถวายไว้สำหรับวัด วัดปากน้ำก็จะสมบูรณ์ด้วยเครื่องใช้เป็นประโยชน์แก่วัดต่อไป และพูดแถมท้ายว่า "แกคอยดู จะสนุกกันใหญ่"

                เป็นความตั้งใจของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ดังนั้น ท่านชอบพูดเรื่องนี้แก่ผู้เขียน และท่านก็รู้ว่าผู้เขียนไม่ได้เลื่อมใสอะไรในท่านมากนัก แต่ชอบพูดฝากไว้

                หลวงพ่อวัดปากน้ำอยู่ในลักษณะพูดจริงทำจริง และไม่ใคร่ฟังเสียงใครคัดค้าน เมื่อท่านมองเห็นช่องจะสำเร็จ ฉะนั้น โรงเรียนทันสมัยหลังหนึ่งจึงเกิดขึ้นในวัดปากน้ำ เป็นตึก ๓ ชั้น จริงดังพูด พร้อมด้วยเครื่องประดับตกแต่งอย่างดียิ่ง และทันสมัย มีห้องเรียน ห้องน้ำ ห้องส้วมประจำชั้น มีเครื่องอุปกรณ์การศึกษาชั้นหนึ่งครบบริบูรณ์ สมแก่นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าที่ได้ดำริไว้ ชั้นบนเปิดเป็นห้องโถง เพื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สมจริงดังปณิธานที่ได้ตั้งไว้ เป็นโรงเรียนตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ยาว ๒๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ๑ ศอก ค่าก่อสร้าง ๒,๕๙๘,๑๑๐.๓๙ บาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสิบบาท สามสิบเก้าสตางค์) ติดไฟฟ้าและพัดลมทันสมัย โรงเรียนหลังนี้เป็นพยานแห่งความฝันของหลวงพ่อวัดปากน้ำ "มิใช่ดีแต่พูด ย่อมทำดีตามพูดด้วย" จึงควรแก่คำสรรเสริญยิ่งนัก แต่การฉลองนั้นท่านรอ ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อใกล้ ๒๕ พุทธศตวรรษ ท่านอาพาธ ไม่สามารถจะดำเนินงานตามเจตนาได้ โรงเรียนหลังนี้เป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์มาก เพราะเมื่อก่อนนั้น การสอบนักธรรมหมุนเวียนไปวัดโน้นบ้าง วัดนั้นบ้าง แล้วแต่เจ้าคณะอำเภอจะสั่งไป ได้รับความขัดข้องประการต่าง ๆ บางแห่งก็ใกล้ บางแห่งก็ไกล ไม่สะดวกด้วยสถานที่สอบ

                เมื่อโรงเรียนวัดปากน้าสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ทางคณะสงฆ์ได้ย้ายการสอบจากที่อื่นมาเปิดสนามสอบที่วัดปากน้ำ รวมสอบแห่งเดียวในอำเภอภาษีเจริญ ธนบุรี เป็นการสะดวกแก่นักเรียนทุกประการ บางวันก็มาฉันเพลที่วัดปากน้ำเสียทีเดียว เป็นสถานที่สอบประจำทุกปีมา

                เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๒ เป็นวันครบ ๑๐๐ วัน นับแต่หลวงพ่อวัดปากน้ำถึงแก่มรณภาพ ศิษยานุศิษย์ ท่านที่เคารพนับถือได้บำเพ็ญกุศลสตมวารตามศาสนพิธี ได้มีเทศน์ปฐมสังคายนาแจง ๕๐๐ โดยหาเจ้าภาพรับเป็นองค์อุปถัมภ์ ๕๐๐ คน บริจาคจตุปัจจัยคนละ ๑๐๐ บาท เมื่อปัจจัยเหลือจากการใช้จ่ายแล้ว จะรวบรวมไว้เป็นทุนพระราชทานเพลิงศษต่อไป ทั้งนี้ ช่วยกันสนองความตั้งใจของหลวงพ่อวัดปากน้ำให้เป็นผลสำเร็จ แม้ท่านมรณภาพแล้ว ก็ยังภูมิใจว่าหลวงพ่อได้กระทำ เพราะปรารภคุณสมบัติของท่านเป็นมูลเหตุ และแจงห้าร้อยนี้ย่อมเป็นไปเรียบร้อยสมเกียรติของท่านทุกประการ

                การปฏิบัติธรรมด้านพระกัมมัฏฐาน ถือว่าเป็นงานใหญ่ในชีวิตของท่าน ด้านคันถธุระมอบให้ศิษย์ที่เป็นเปรียญดำเนินงานไป นักปริยัตินักปฏิบัติเพิ่มจำนวนยิ่งขึ้น เพราะท่านมีความปรารถนาไว้ตั้งแต่มาครองวัดปากน้ำ และได้ปฏิญาณในพระอุโบสถว่า "บรรพชิตที่ยังไม่มา ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข" ฉะนั้น ใครจะบ่ายหน้ามาพึ่งท่าน จึงไม่ได้รับคำปฏิเสธกลับไป ใครพูดถึงจำนวนภิกษุสามเณรว่ามากเกินไป ท่านดีใจกลับหัวเราะพูดว่า "เห็นคุณพระพุทธศาสนาไหมล่ะ" ถ้าพูดถึงเรื่องนี้เป็นถูกอารมณ์มากทีเดียว ท่านไม่พูดว่าเลี้ยงไม่ไหว มีแต่พูดว่า "ไหวซิน่า" แล้วก็หัวเราะ คิดว่าท่านคงปลื้มใจที่ความคิดความฝันของท่านเป็นผลสำเร็จขึ้น

                การบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยการเจริญพระกัมมัฏฐาน กำลังแผ่รัศมีไปไกล ประชาชนต้อนรับการปฏิบัติ ภิกษุสามเณรต่างจังหวัดมากขึ้น เกียรติคุณก็แพร่หลาย วันธรรมสวนะจะเห็นคนลงเรือจ้างจากปากคลองตลาดมาวัดปากน้ำไม่ขาดสาย จนพวกเรือจ้างดีใจไปตาม ๆ กัน เพราะเพิ่มรายได้แก่ผู้มีอาชีพทางนั้น วันพฤหัสบดีเป็นวันเรียนและเริ่มปฏิบัติ วันนี้ก็มีคนมาก วันละหลาย ๆ สิบคนก็มี ยิ่งทางรถสะดวกคนยิ่งมากขึ้น

                ผู้ปฏิบัติคนใดเห็นธรรมด้วยปัญญาของตน ท่านบอกว่าได้ธรรมกาย อันคำว่าธรรมกายนั้น เป็นคำที่แปลกหูคนเอามาก ๆ เพราะเป็นชื่อที่ไม่มีใครสนใจ ผู้ไม่ทันคิดก็เหมาเอาว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำอุตริบัญญัติขึ้นใช้เฉพาะวิธีการของท่าน คำว่าธรรมกาย เป็นที่เย้ยหยันของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อใคร บางคนก็ว่าอวดอุตริมนุสฺสธรรม พูดเหยียดหยามว่าใครอยากเป็นอสุรกายจงไปเรียนธรรมกายวัดปากน้ำ ข่าวนี้ก็ทราบถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำเหมือนกัน ท่านยิ้มรับถ้อยคำเช่นนั้น ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ แสดงให้เห็น หลวงพ่อพูดว่าน่าสงสาร พูดไปอย่างไร้ภูมิ ไม่มีที่มาเขาจะบัญญัติขึ้นได้อย่างไร เป็นถ้อยคำของคนเซอะ ท่านว่าอย่างนั้น

                เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คำว่า "ธรรมกาย" เช่นนั้น และพูดไปในแนวที่ทำลายท่าน นิสัยที่ไม่ยอมแพ้ใครอันมีมาแต่กำเนิด หลวงพ่อวัดปากน้ำใช้คำว่า "ธรรมกาย" เป็นสัญญลักษณ์ของสำนักกัมมัฏฐานวัดปากน้ำทีเดียว เอาคำว่าธรรมกายขึ้นเชิดชู ศิษยานุศิษย์รับเอาไปเผยแพร่ทั่วทิศ และอิทธิพลของคำว่า "ธรรมกาย" นั้นไปแสดงความอัศจรรย์ถึงทวีปยุโรป ถึงกับศาสตราจารย์วิลเลียม ต้องเหาะมาศึกษาและอุปสมบท ณ วัดปากน้ำ เป็นคนแรกที่ชาวยุโรปมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในประเทศไทย นายวิลเลียมนี้เป็นชาวอังกฤษ

                คำว่า "ธรรมกาย" เป็นคำที่ระคายหูของคนบางพวก จึงยกเอาคำนั้นมาเสียดสี เพื่อให้รัศมีวัดปากน้ำเสื่อมคุณภาพ หลวงพ่อวัดปากน้ำพูดว่า เรื่องตื้น ๆ ไม่น่าตกใจอะไร ธรรมกายเป็นของจริง ของจริงนี้จะส่งเสริมให้วัดปากน้ำเด่นขึ้นไม่น้อยหน้าใคร พวกแกคอยดูไปเถิด ดูเหมือนว่าไม่มีใครช่วยแก้แทนท่าน

                แต่คำว่า "ธรรมกาย" นั้น ย่อมซาบซึ้งกันแจ่มแจ้ง เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำได้มรณภาพแล้ว กล่าวคือ เมื่อทำบุญ ๕๐ วัน ศพของพระคุณท่าน คณะเจ้าภาพได้อาราธนาเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร วัดชนะสงครามมาแสดงธรรม เจ้าคุณพระธรรมทัศนาธรได้ชี้แจงว่า คำว่า "ธรรมกาย" นั้น มีมาในพระสุตตันตปิฎก ท่านอ้างบาลีว่า ตถาคตสฺส วาเสฏฺฐา เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํ ซึ่งพอจะแปลความได้ว่า "ธรรมกายนี้เป็นชื่อของตถาคต ดูกร วาเสฏฐะ" ทำให้ผู้ฟังเทศน์เวลานั้นหลายร้อยคนชื่นอกชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนกราบสาธุการแด่เจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร และประหลาดใจว่า ทำไมเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร จึงทราบประวัติและการปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำได้ถูกต้อง

                ผู้เขียนเรื่องนี้ก็แปลกใจมาก เมื่อแสดงธรรมจบ ลงจากธรรมาสน์แล้ว จึงถามว่าผู้แสดงธรรมว่า คุ้นเคยกับหลวงพ่อวัดปากน้ำหรือ จึงแสดงธรรมได้ถูกต้องตามเป็นจริง

                พระธรรมทัศนาธรตอบว่า "อ้าว ไม่รู้หรือ ผมติดต่อกับท่านมานานแล้ว หลวงพ่อวัดปากน้ำข้ามฟากไปฝั่งพระนครแทบทุกคราวไปหาผมที่วัดชนะสงคราม และผมก็หมั่นข้ามมาสนทนากับเจ้าคุณวัดปากน้ำ การที่หมั่นมานั้น เพราะได้ยินเกียรติคุณว่ามีพระเณรมาก แม้ตั้ง ๔ - ๕ ร้อยรูป ก็ไม่ต้องบิณฑบาตฉัน วัดรับเลี้ยงหมด อยากทราบว่าท่านมีวิธีการอย่างไรจึงสามารถถึงเพียงนี้ และก็เลยถูกอัธยาศัยกับท่านตลอดมา" เมื่อทราบความจริงเช่นนั้น ทุกคนก็หายข้องใจ ผู้เขียนก็เคยแปลกใจ โดยท่านเจ้าคุณมงคลเทพมุนี เคยพูดถึงเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธรเสมอว่า องค์นี้ใช้ได้ ๆ โดยที่ไม่ทราบว่าท่านหมายความว่าอย่างไร

                หลวงพ่อวัดปากน้ำ มีวาทะตรงกับใจ เมื่อจะพูดอะไรก็พูดโดยไม่สะทกสะท้านและไม่กลัวคำติเตียนด้วย เช่นครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเรื่องนี้ได้มาฉันเพลที่วัดปากน้ำ วันนั้นมีประชาชนมาก ร่วมใจบริจาคทานแก่ภิกษุสามเณรทั้งวัดเป็นกรณีพิเศษ เมื่อทายกประเคนอาหารเรียบร้อยแล้ว มีพ่อค้าตลาดสำเพ็งผู้มั่งคั่งคนหนึ่งไปกราบและถามว่า "หลวงพ่อขอรับ วันนี้จะมีผู้บริจาคสร้างกุฏิเพื่อเจริญพระกัมมัฏฐานบ้างไหม" ชาวบ้านไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ที่นั่งใกล้ ๆ ได้ยินคำถามนั้น คิดว่าคงตั้งใจฟังคำตอบของหลวงพ่อ ต่างทอดสายตามองหลวงพ่อ เพื่อฟังคำตอบ

                เวลานั้นข้าพเจ้าผู้เขียน มีทั้งโกรธผู้ถาม ทั้งหนักใจแทนหลวงพ่อ และได้มองดูหน้าผู้ตอบ หลวงพ่อมีดวงหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หลับตาสัก ๕ นาที ครั้นแล้วตอบทันทีว่า "มี" ผู้ถามได้ถามย้ำต่อไปว่ากี่หลัง ตอบว่า ๒ - ๓ หลัง และย้ำอีกว่าต้องได้แน่

                เวลานั้นผู้เขียนฉันภัตตาหารไม่มีรส โกรธผู้ถามว่าช่างไม่มีอัธยาศัย คำถามเช่นนั้นเท่ากับเอาโคลนมาสาดรดหลวงพ่อ เมื่อต้องการทราบ ควรถามเฉพาะสองต่อสอง และโกรธหลวงพ่อว่า ช่างไม่มีปัญญาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คิดว่าทำไมนะหลวงพ่อจึงไม่พูดว่า เวลานี้ยังไม่เป็นโอกาสที่จะพยากรณ์คำถามนั้น ที่ตอบออกไปว่าจะมีผู้บริจาค ๒ - ๓ หลังนั้น หมิ่นต่ออันตรายมากนัก อาจเป็นคำพูดที่ฆ่าตนเองได้ ดาบของตนฆ่าตนเอง เวลานั้นก็เอาใจช่วยหลวงพ่อขอให้มีผู้บริจาคจริง ๆ เถิด เสร็จการฉันของหวานแล้ว คำพยากรณ์ของหลวงพ่อก็ยังไม่ปรากฏเป็นความจริงขึ้น ผู้เขียนเรื่องนี้นั่งอยู่ด้วยความอึดอัดใจ นึกตำหนิท่านว่า ไม่รอบคอบพอ

                ได้เวลาอนุโมทนา มีคณะอุบาสกอุบาสิกากลุ่มหนึ่ง เข้ามากราบหลวงพ่อ บอกว่าศรัทธาจะสร้างกุฏิเล็ก ๆ อย่างที่หลวงพ่อสร้างไว้แล้วสัก ๒ - ๓ หลัง ประมาณราคา ๓ - ๔ ร้อยบาทต่อหนึ่งหลัง ขอให้หลวงพ่อช่วยจัดการให้ด้วย ตอนนี้หลวงพ่อไม่หัวเราะ ยิ้มน้อย ๆ พอสมควรแก่กาละ ครั้นแล้วหลวงพ่อเรียกตัวผู้ถามมาบอกว่า "ได้แล้วกุฏิกัมมัฏฐาน ๓ หลัง เจ้าของนั่งอยู่นี่" แล้วท่านชี้มือไปยังเจ้าภาพผู้บริจาค ผู้ถามได้กระโดดเข้าไปกราบที่ตักหลวงพ่อพูดว่า "ยิ่งกว่าตาเห็น" ผู้เขียนดีใจจนเหงื่อแตก ที่ความจริงมากู้เกียรติของหลวงพ่อไว้ได้

                เกรงจะเป็นลูกไม้ จึงหาโอกาสสนทนากับผู้บริจาคว่า นัดกับหลวงพ่อไว้หรือว่าจะสร้างกุฏิถวาย ได้รับคำตอบว่า เพิ่งคิดเมื่อมาทำบุญวันนี้เอง เดินมาเห็นกุฏิเล็ก ๆ สวยดี อยากจะสร้างบ้างแต่ทุนไม่พอ จึงปรึกษากับพวกพ้องที่บังเอิญมาพบกันวันนี้เห็นดีร่วมกัน จึงได้มอบเงินแก่หลวงพ่อให้จัดการสร้างต่อไป นี่เป็นเรื่องก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ร่วม ๒๐ ปี

                เมื่ออุบาสกอุบาสิกากลับหมดแล้ว ผู้เขียนจึงได้พูดกับหลวงพ่อต่อไป เบื้องต้นยกย่องว่าหลวงพ่อพยากรณ์แม่นเหมือนตาเห็น แต่น่ากลัวอันตราย ไม่ควรตอบในเวลานั้น ควรจะบอกเฉพาะตัวหรือสองต่อสอง หลวงพ่อถาทว่าอันตรายอย่างไร จึงเรียนท่านว่า ถ้าไม่เป็นความจริงดังคำพยากรณ์ ชาวบ้านจะเสื่อมศรัทธา หลวงพ่อพูดว่า "เรามันเซอะ พระพุทธศาสนาเก๊ได้หรือ ธรรมของพระพุทธเจ้าต้องจริง ธรรมกายไม่เคยหลอกลวงใคร" เมื่อได้ยินดังนั้นก็จำต้องนิ่ง และไม่คิดจะถามความเห็นอะไรต่อไป ที่นำมาเขียนไว้นี้เพื่อจะแสดงว่า ญาณะของหลวงพ่อให้ความรู้แก่หลวงพ่ออย่างไรในวิถีของผู้ปฏิบัติธรรม หลวงพ่อต้องพูดอย่างนั้น ถ้าญาณะไม่แสดงออกจะเอาอะไรมาพูดได้ ผู้เขียนก็รับเอาความหนักใจแทนมาโดยลำดับ ๆ หลวงพ่อรู้เต็มอกว่า ผู้เขียนเรื่องนี้ไม่เชื่อวิชาของท่าน และได้เคยพูดกับผู้อื่นหลายคนว่า "เขาไม่เชื่อเรา" คำว่า "เขา" นั้น หมายถึงผู้เขียนโดยเฉพาะ

                หลวงพ่อมีเมตตาปรานีเป็นนิสัย ใครเดือดร้อนมาไม่เคยปฏิเสธ ย่อมให้อุปการะตามสมควร แต่ไม่ชอบคนโกหก ถ้าจับโกหกได้แม้ครั้งเดียวท่านก็ว่าคนนี้เก๊ โกหกกระทั่งเรา ก็เป็นคนหมดดี เช่น คราวหนึ่งมีคนแก่มาเรียนกัมมัฏฐานมีศรัทธากล้า พอได้ผลแห่งการปฏิบัติบ้าง แต่ยังอ่อน กลับบ้านลาลูกเมียมาวัดปากน้ำอีก มีปลาแห้งตัวหนึ่งมาถวายหลวงพ่อ บอกว่ามีเท่านั้นเองเพราะเป็นความยากจน หลวงพ่อหัวเราะชอบใจ พูดว่า " เออ ! ให้มันได้อย่างนี้ซีน่า นี่แหละเขาเรียกว่าคนรวยแล้ว มีเท่าไรถวายจนหมด เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า นางปุณณฑาสี ถวายแป้งจี่ทำด้วยรำแก่พระพุทธเจ้า ต่อมากลายเป็นคนมั่งมี ปลาแห้งของเราตัวหนึ่งราคาสูงกว่ารำมากนัก เป็นกุศลมากแล้วที่นำมาให้" พูดกันไปมา ในที่สุดก็ขอร้องให้หลวงพ่อบวชให้ เพราะไม่มีสมณบริขารจะบวช หลวงพ่อก็ได้จัดการให้ความปรารถนาของเขาเป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

                เมื่อพระศากยยุติวงศ์ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชสุธี พระสมุห์สด ได้เป็นพระครูสมุห์ตามขึ้นไป ท่านได้ปกครองวัดจนถึง พ.ศ.๒๔๖๔ ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีพระราชทินนามว่า "พระครูสมณธรรมสมาทาน"

                เกียรติคุณขยายตัวกว้างออกไปเพียงไร ข่าวอกุศลก็ขยายเป็นเงาตามตนไป แต่เป็นของอัศจรรย์ที่ผู้นิยมการปฏิบัติก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ภิกษุสามเณรก็มากขึ้น การใช้จ่ายเรื่องภัตตาหาร ค่าน้ำค่าไฟก็ทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว หลวงพ่อวัดปากน้ำก็ต้องสละสมณบริขาร สบง จีวร อุปการะแก่ภิกษุสามเณรมากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครได้ยินท่านบ่นและท้อใจ ยิ่งมากยิ่งยินดี ท่านพูดว่าเขามาพึ่งพาอาศัย เราไม่ปฏิเสธ อุปการะเท่าที่มี

                คำกล่าวร้ายป้ายสีที่เรียกว่า "อกุศล" รัดรึงตรึงตัวมากอยู่ แต่ก็ยังมีผู้มีใจเป็นกลางช่วยเหลือท่าน เช่น คุณพระทิพย์ปริญญา ได้สังเกตการณ์มาโดยลำดับและคุณพระได้เขียนหนังสือเกี่ยวแก่วัดปากน้ำเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นประหนึ่งเปิดภาชนะที่คว่ำให้หงายขึ้น ทำให้คำกล่าวร้ายฝ่ายอกุศลสงบตัวลง สงบอย่างไม่มีอิทธิพลมาประทุษร้ายวัดปากน้ำได้ หนังสือนั้นพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพสงคราม ภิกษุสามเณรวัดปากน้ำได้อพยพออกไป เพราะกลัวภัยสงคราม ไปหลบอยู่ตามอัธยาศัย หนังสือนั้นได้นำมาพิมพ์ตามต้นฉบับเดิม และที่นำมาพิมพ์นี้เฉพาะคำนำเท่านั้น มีสำเนาความดังต่อไปนี้

 

 

 



หน้า 1/1
1
[Go to top]



Copyright © 2011 All Rights Reserved.

วัดชัยชนะสงคราม
( สำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดสงขลา แห่งที่ 10 )
  538 ม.3 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110    
โทร  074-251866     
http://www.watchai.org

e-mail : info@watchai.org