ReadyPlanet.com
dot
dot
วัดชัยชนะสงคราม
dot
bulletพระครูมงคลสุตาภรณ์
bulletพระร้อยเอกวิวัฒน์ วิวฑฺฒโน
bulletทำเนียบวัดชัยชนะสงคราม
bulletศาสนสถานที่สำคัญภายในวัด
bulletกำหนดการงานบุญภายในวัด
bulletกำหนดการอบรมปฎิบัติธรรม
bulletรวมรูปอัลปั๊ม Photo Gallary
bulletรวมคลิปวีดีโอทั่วไป
dot
สาระน่ารู้
dot
bulletบทสวดมนต์
bulletหลวงพ่อสด จันทสโร
bulletหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
bulletความรู้เกี่ยวกับวิชชาธรรมกาย
bulletความรู้เกี่ยวกับมโนมยิทธิ
bulletตำราวิชาธรรมกาย
bulletหนังสือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
bulletรวมคลิปคำสอนหลวงพ่อฤาษี
bulletประสบการณ์ฝึกสมาธิ หลวงป๋า
bulletวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
dot
รวมลิงค์ที่น่าสนใจ
dot
bulletพระไตรปิฎก
bulletวัดจันทาราม (วัดท่าซุง)
bulletหลวงตามหาบัว (วัดป่าบ้านตาด)
bulletพลังจิต.คอม
bulletดังตฤณ.คอม
bulletwisdominside.org
bulletพลังกายทิพย์ (คุณย่าเยาวเรศ)
bulletพลังชี่กง (อาจารย์หยาง)
bulletวัดถ้ำขวัญเมือง ชุมพร
bulletsiripong.net
dot
กรองอีเมลท่าน เพื่อรับข่าวสารทางวัด

dot




วิชชาธรรมกาย

วิธีทำสมาธิตามแนวทางของธรรมกาย

         การทำภาวนาจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ทำจะต้องมีใจและอารมณ์ปลอดโปร่งว่างจากกิจที่จะต้องกังวลทั้งปวง เพราะถ้าหากมีความกังวลมากนักก็อาจจะทำให้สมาธิไม่แน่วแน่  ฉะนั้นถ้ามีความตั้งใจว่าจะทำสมาธิแล้วก็พึงละความกังวลใหญ่น้อยทั้งปวงเสียให้สิ้น มุ่งแต่ธรรมะอย่างเดียว  แม้ความรู้ในทางธรรมะใดๆ ที่ได้เล่าเรียนมาแล้ว ก็ควรปล่อยวางให้สิ้นเสียก่อนในเวลาทำภาวนา  ถ้าหากไม่ทำเช่นนั้นก็จะเกิดเป็นวิจิกิจฉาขึ้น ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ให้เห็นธรรมได้ตามต้องการ  เมื่อรู้แน่ฉะนี้แล้วจะได้กล่าวถึงวิธีนั่งต่อไป

        หลังจากการสวดมนตร์ไหว้พระรัตนตรัยแล้ว พึงคู้บัลลังก์ขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจดหัวแม่มือซ้าย หลับตาพอหนังตาติดกันตามสบาย ตั้งกายให้ตรงจนยืดตัวไม่ได้ต่อไป ที่เรียกว่า อุชุ กายํ ปณิธาย ตั้งกายให้ตรง ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา เข้าไปตั้งสติไว้ให้มีหน้ารอบไม่เผลอ (ตรงกับพระขีณาสพผู้เป็นสติวินัย) มีสติทุกเมื่อ นี่เป็นทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์  สติไม่เผลอจากการบริกรรมภาวนาและบริกรรมนิมิตต์ให้ติดกัน ไม่แยกกัน  บริกรรมภาวนาได้แก่คำว่า “สม์มา อรหํ” ส่วนบริกรรมนิมิตต์นั้นคือกำหนดเครื่องหมายให้ใสเหมือนเพ็ชรลูกที่เจียระไนแล้ว หรือดวงแก้วกลมๆ ที่ใสบริสุทธิ์ปราศจากฝ้าไฝหรือมลทินใดๆ  สัณฐานกลมรอบตัว  บริกรรมทั้งสองนี้พึงตรึกไว้ให้ได้อยู่เสมอในอิริยาบถทั้ง 4 คือ นั่ง นอน ยืน เดินไม่ให้เผลอสติได้ และนี่เองเป็นของสำคัญในเรื่องที่จะเป็นหรือไม่เป็น

       ในขั้นต้นสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติควรจะกำหนดรู้จักฐานที่ตั้งของดวงนิมิตต์เสียก่อน  เพื่อจะได้รู้จักทางไปเกิดมาของตนไว้บ้าง  ฐานที่ตั้งนี้แบ่งเป็น 6 ระยะคือ

ฐานที่ 1 ปากช่องจมูก หญิงซ้าย ชายขวา ตรงกลางพอดี ไม่ล้ำเข้าไปไม่เหลื่อมออกมา
ฐานที่ 2 เพลาตา หญิงซ้าย ชายขวา ตรงหัวตาพอดี
ฐานที่ 3 กลางกั๊กศีรษะตรงกับจอมประสาท ได้ระดับตา แต่อยู่ภายในตรงศูนย์กลาง คือจากดั้งจมูกตรงเข้าไปจด
              ท้ายทอย  จากเหนือหูซ้ายตรงไปเหนือหูขวา ตรงกลางที่เส้นทั้งสองตัดกันนั่นเองเป็นฐานที่ 3
ฐานที่ 4 ปากช่องเพดานไม่ให้ล้ำเหลื่อม เหนือลิ้นไก่ตรงที่รับประทานอาหารสำลัก
ฐานที่ 5 ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก อยู่ตรงกลางทีเดียว
ฐานที่ 6 สูดลมหายใจเข้าออกคือกลางตัว ตรงกับสะดือ แต่อยู่ภายใน
ฐานที่ 7 ถอยหลังกลับขึ้นมาเหนือสะดือประมาณ 2 นิ้ว ในกลางตัว

          กำหนดดวงนิมิตต์เครื่องหมายไปอยู่ตามฐานนั้นๆ พร้อมกับภาวนาในใจว่า “สมฺมา อรหํ” 3 ครั้ง  แล้วจึงเลื่อนดวงนิมิตต์นั้นต่อไป  สำหรับฐานที่ 3 เวลาที่จะเลื่อนดวงนิมิตต์ต่อไป ต้องเหลือบตากลับเข้าข้างในคล้ายๆ กับคนนอนกำลังจะหลับแต่แล้วก็ปล่อยให้เป็นไปตามปกติ  ทั้งนี้เพื่อจะให้เห็นความจำความคิดความรู้กลับเข้าข้างใน  เพราะจะต้องดูด้วยตาละเอียดต่อไป  เมื่อเลื่อนดวงนิมิตต์ลงไปจนถึงฐานที่ 7 แล้ว  ในฐานที่ 7 นั้น มีศูนย์อยู่ 5 ศูนย์ คือ ศูนย์กลาง, หน้า, ขวา, หลัง, ซ้าย, ศูนย์หน้าเป็นธาตุน้ำ ขวาธาตุดิน หลังธาตุไฟ ซ้ายธาตุลม ศูนย์กลางอากาศธาตุ ตรงกลางอากาศธาตุได้แก่วิญญาณธาตุ  ธาตุเหล่านี้เองที่ประชุมกันเป็นกายมนุษย์ขึ้น  และศูนย์กลางภายในกายนี้ ก็คือศูนย์กำเนิดของกายมนุษย์นั่นเอง  ถ้าหากรู้จักทางคือฐานที่ตั้งเหล่านี้แล้ว ในการทำคราวหลังๆ จะเอาใจไปจดที่กำเนิดของกายมนุษย์เลยทีเดียว

  
(รูปฐาน)

1. ด้านขวา                   ธาตุดิน
2. ด้านหน้า                  ธาตุน้ำ
3. ด้านซ้าย                  ธาตุลม
4. ด้านหลัง                  ธาตุไฟ
5. ศูนย์กลาง               อากาศธาตุ
       ลักษณะของฐานที่ 7

ภาพ – แสดงที่ตั้งของดวงนิมิตต์ จากฐานที่ 1 ถึงที่ 7


 


 

วิธีทำให้เห็นธรรมกาย

 ลำดับที่ 1

        ทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในศูนย์กำเนิดของกายมนุษย์  ศูนย์นี้เป็นที่ไปเกิดมาเกิดของสัตว์ อยู่ตรงศูนย์กลางกายพอดี  ที่ตรงนั้นใจของกุมารที่เกิดในท้องจดอยู่เสมอจึงไม่ต้องหายใจเพราะถูกส่วนทางมาเกิดไปเกิด ใจหยุดตรงนั้นเหมือนกันทุกคน  ถ้าหยุดไม่ถูกส่วนเช่นนั้น ก็ไม่ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์, เมื่อทำใจให้หยุดนิ่งอยู่นั้นได้ถูกส่วนแล้ว จะเป็นดวงปฐมมรรค ซึ่งเรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเป็นดวงธรรมที่ทำให้บังเกิดเป็นกายขึ้น, ขนาดของดวงที่ปรากฏนั้น อย่างเล็กที่สุดก็เท่ากับดวงดาว อย่างโตที่สุดขนาดเท่าพระอาทิตย์หรือพระจันทร์, สัณฐานกลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก, เมื่อเห็นชัดเจนดีแล้ว ก็ทำใจให้นิ่งลงไปกลางดวงใสนั้น  พอถูกส่วนเข้าก็จะเห็นกายทิพย์ ปรากฏขึ้นจากกลางว่างของดวงใสที่เห็นแล้วนั้น, ต่อไปทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในศูนย์กำเนิดของกายทิพย์ พอถูกส่วนดีแล้วจะเกิดดวงธรรม (คือดวงกลมใสนั่นเอง), ดวงนี้คือดวงทุติยมรรค เมื่อดวงนี้ขยายส่วนโตและเห็นชัดเจนดีแล้ว  ก็ทำใจให้นิ่งลงไปกลางดวงใสนั้น  พอถูกส่วนเข้าก็จะเห็นกายรูปพรหมปรากฏขึ้นกลางเหตุว่างของดวงทุติยมรรคนั้น  ต่อไปทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในศูนย์กำเนิดของกายรูปพรหม  พอถูกส่วนดีแล้วจะเกิดดวงธรรมขึ้นกลางศูนย์กำเนิดของกายรูปพรหมนั้น  ดวงนั้นคือดวงตติยมรรค  เมื่อขยายส่วนโตขึ้นและชัดเจนดีแล้ว  ก็ทำใจให้นิ่งลงไปกลางดวงใสนั้นอีก  พอถูกส่วนเข้าก็จะเห็นกายอรูปพรหม ปรากฏขึ้นในกลางเหตุว่างของดวงตติยมรรคนั้น  แล้วทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในศูนย์กำเนิดของกายอรูปพรหม  พอถูกส่วนดีแล้วจะเกิดดวงธรรมขึ้นกลางศูนย์กำเนิดของกายอรูปพรหมนั้น  ดวงนี้คือดวงจตุตมรรถ  เมื่อขยายส่วนโตขึ้นและชัดเจนดีแล้ว  ก็ทำใจให้นิ่งลงไปกลางดวงใสนั้นอีก  พอถูกส่วนก็จะเห็นกายธรรมกาย  ปรากฏขึ้นในกลางเหตุว่างของดวงจตุตถมรรคนั้น

ลำดับที่ 2

        หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายธรรม ใช้ตาธรรมกายดูดวงศีล ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางของธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์  ดวงศีลนี้มีลักษณะกลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก มีขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ นี่เป็นดวงศีลของมนุษย์  ดวงสมาธิซ้อนอยู่ในกลางดวงศีล มีลักษณะกลมรอบตัวใสแบบเดียวกันกับดวงศีล มีขนาดเท่ากัน  ดวงปัญญาก็ซ้อนอยู่ในกลางดวงสมาธิ กลมรอบตัวใสสะอาดมีขนาดเท่ากัน  ดวงวิมุตติซ้อนอยู่ในกลางดวงปัญญา กลมรอบตัวใสสะอาดมีขนาดเท่ากัน  ดวงวิมุตติญาณซ้อนอยู่ในกลางดวงวิมุตติ กลอมรอบตัวใสสะอาดมีขนาดเท่ากัน เหล่านี้เป็น ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ของมนุษย์ที่ว่ามานี้เป็นอย่างเล็ก อย่างโตขนาดเท่าดวงจันทร์  แล้วหยุดนิ่งต่อลงไปในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะของมนุษย์นั้น ก็จะเห็นกายทิพย์  กลางกายทิพย์มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์  ดวงธรรมนี้มีลักษณะกลมรอบตัวบริสุทธิ์ ขนาดเล็กเท่าฟองไข่แดงของไก่ ขนาดโตเท่าดวงพระจันทร์  กลางดวงธรรมนั้นมีดวงศีลซ้อนอยู่ กลางดวงศีลมีดวงสมาธิ กลางดวงสมาธิมีดวงปัญญา กลางดวงปัญญามีดวงวิมุตติ กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะของกายทิพย์นี้ ก็มีขนาดเท่ากันกับของกายมนุษย์ต่างกันแต่ของกายทิพย์นี้ใสกว่า ละเอียดกว่าของกายมนุษย์  แล้วนิ่งลงไปในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะของกายทิพย์นั้น จะเห็นกายรูปพรหม กลางกายมีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม กลางดวงธรรมมีดวงศีล กลางดวงศีลมีดวงสมาธิ กลางดวงสมาธิมีดวงปัญญา กลางดวงปัญญามีดวงวิมุตติ กลางดวงวิมุตติมีดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หล่านี้คือดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะของกายรูปพรหม มีลักษณะกลมรอบตัว ขนาดเท่าๆ กันกับของกายมนุษย์และกายทิพย์  แต่มีความใสความละเอียดยิ่งกว่า  แล้วนิ่งลงไปในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะของกายรูปพรหมนั้น จะเห็นกายอรูปพรหม กลางกายมีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม กลางดวงธรรมมีดวงศีล กลางดวงศีลมีดวงสมาธิ กลางดวงสมาธิมีดวงปัญญา กลางดวงปัญญามีดวงวิมุตติ กลางดวงวิมุตติมีดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  เหล่านี้คือดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะของกายอรูปพรหม มีลักษณะกลมรอบตัว ขนาดเท่าๆ กันกับของกายรูปพรหม  แต่มีความใสความละเอียดมากกว่า  แล้วนิ่งลงไปในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะของกายอรูปพรหมนั้น จะเห็นกายธรรม กลางกายมีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม กลางดวงธรรมมีดวงศีล กลางดวงศีลมีดวงสมาธิ กลางดวงสมาธิมีดวงปัญญา กลางดวงปัญญามีดวงวิมุตติ กลางดวงวิมุตติมีดวงวิมุตติญาณทัสสนะเหล่านี้คือ ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะของกายธรรม มีลักษณะกลมรอบตัว  แต่ว่ามีขนาดวัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักของธรรมกายไม่มีเล็กมีโต มีหน้าตักของธรรมกายเป็นเครื่องวัดด้วยผ่าเส้นศูนย์กลาง ความใสบริสุทธิ์นั้นยิ่งกว่ากายที่กล่าวมาแล้วมากมายหลายเท่า ใสจนกระทั่งมีรัศมีปรากฎ

ลำดับที่ 3

       ดูดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ที่ศูนย์กลางกายมนุษย์ให้เห็นเป็นดวงใส แล้วขยายให้กว้างออกไป วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 2 วา หนา 1 คืบ วัดโดยรอบ 6 วา สัณฐานกลม (ไม่ใช่กลมรอบตัวเป็นดวง) ใสเหมือนกระจกส่องหน้า นี่เป็นปฐมฌาน  แล้วกายธรรมนั่งบนนั้นดังนี้เรียกว่ากายธรรมเข้าปฐมฌานนั้น  เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายทิพย์ให้เห็นเป็นดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้น นี่เป็นทุติยฌาน ธรรมกายน้อมเข้าทุติยฌานนั้นแล้ว ปฐมฌานก็หายไป ทุติฌานก็มาแทนที่ ธรรมกายนั่งบนนั้น นี้ชื่อว่าธรรมกายเข้าทุติยฌาน แล้วตาธรรมกายที่นั่งบนฌานนั้น  เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายรูปพรหมเห็นเป็นดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้น นี่เป็นตติยฌาน  ธรรมกายน้อมเข้าตติฌานนั้นแล้ว ทุติยฌานก็หายไป ตติยฌานมาแทนที่ ธรรมกายนั่งบนนั้น นี้ชื่อว่าธรรมกายเข้าตติยณาน แล้วตาธรรมกายที่นั่งบนฌานนั้น เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายอรูปพรหมเห็นเป็นดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้น นี่เป็นจตุตภฌาน ธรรมกายน้อมเข้าจตุตถฌานนั้นแล้วตติยฌานก็หายไป จตุตถฌานมาแทนที่ ธรรมกายนั่งบนนั้น  ดังนี้ชื่อว่าธรรมกายเข้าจตุตถฌาน (เหล่านี้เป็นรูปฌาน) ต่อจากนี้ไปให้ใจธรรมกายน้อมไปในเหตุว่างของปฐมฌาน เห็นเป็นดวงใสเท่าจตุตถฌาน ธรรมกายก็นั่งบนดวงนั้น เมื่อธรรมกายนั่งอยู่บนอากาสานัญจาตนะฌาน  ดังนี้แล้ว ใจธรรมกายน้อมไปในรู้ ในเหตุว่างของทุติยฌาน อากาสานัญจายตนะฌานก็จางหายไป  เกิดวิญญาณัญจายตนะฌาน (ใสยิ่งกว่านั้น) ธรรมกายนั่งอยู่บนวิญญาณัญจายตนะฌานนั้น ใจธรรมกายน้อมไปในที่รู้ละเอียดในเหตุว่างของตติยฌาน วิญญาณัญจายตนะฌานก็จางหายไป เกิดอากิญจัญญายตนะฌาน (ใสยิ่งขึ้นไปอีก)  ธรรมกายนั่งอยู่บนอากิญจัญญายตนะฌานนั้น ใจธรรมกายน้อมไปในรู้ก็ใช่ไม่รู้ก็ใช่ ในเหตุว่างของจตุตถฌานอากิญจัญญายตนะก็จางหายไป  เกิดเนวสัญญานาสัญญายตนะฌานเข้าแทนที่ รู้สึกว่าละเอียดจริงประณีตจริง  ธรรมกายนั่งอยู่บนเนวสัญญายตนะฌานนั้น (นี่เป็นส่วนอรูปฌาน) เหล่านี้เรียกว่าเข้าฌาน 1 ถึง 8  โดยอนุโลม แล้วย้อนกลับ จับแต่ฌานที่ 8 นั้น ถอยลงมาหาฌานที่ 7, 6, 5, 4, 3, 2, 1 เรียกว่าปฏิโลม ดูอริยสัจจ์ของกายมนุษย์ให้เห็นจริงว่า ความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของมนุษย์เป็นทุกข์  สิ่งที่เรียกว่าเป็นความเกิดนั้น มีลักษณะเป็นดวงกลมใสขนาดเล็กเท่าเมล็ดโพธิ์ ขนาดโตเท่าดวงพระจันทร์ สีขาวใสบริสุทธิ์  ดวงเกิดนี้จะเริ่มมาจดศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์  ในเวลาที่กายมนุษย์มีอายุครอบ 14 ปี  ดวงนี้เองเป็นดวงเริ่มเกิดของมนุษย์ทุกคน  ถ้าดวงนี้ไม่มาจดกลางดวงธรรมของมนุษย์ กายมนุษย์ก็จะมาเกิดไม่ได้  เมื่อกายธรรมดูความเกิด ดูเหตุที่จะทำให้เกิดเห็นตลอดแล้ว ก็ดูความแก่ต่อไป  ความแก่นี้ซ้อนอยู่ในกลางดวงของความเกิด เป็นดวงกลมขนาดโตเท่าดวงพระจันทร์ ขนาดเล็กเท่าฟองไข่แดงของไก่ สีดำเป็นนิลแต่ไม่ใส  เวลาที่เป็นดวงแก่นี้ยังเล็กก็เป็นเวลาที่เริ่มแก่ ถ้าดวงแก่นี้ยิ่งโตขึ้นกายก็ยิ่งแก่เข้าทุกที  ดวงนี้เองเป็นเหตุให้ร่างกายทรุดโทรม เมื่อแก่มากขึ้นแล้วก็ต้องมีเจ็บ เพราะดวงเจ็บซ้อนอยู่ในกลางดวงแก่นั้นเอง เป็นดวงกลมขนาดเท่าๆ กับดวงเกิดดวงแก่ สีดำเข้มยิ่งกว่าดวงแก่  ขณะเมื่อดวงเจ็บนี้ มาจดเข้าในศูนย์กลางดวงแก่เข้าเวลาใด กายมนุษย์ก็จะต้องเจ็บทันที  เมื่อดวงเจ็บนี้มาจดหนักเข้า ดวงตายก็ซ้อนเข้าอยู่กลางดวงเจ็บ เป็นดวงกลมขนาดเล็กโตเท่าๆ กับดวงเจ็บ  แต่มีสีดำใสประดุจนิลทีเดียว  เมื่อดวงนี้เข้ามาจดกลางดวงเจ็บแล้ว จดตรงหัวต่อของกายมนุษย์กับกายทิพย์ พอมาจดเข้าเท่านั้น หัวต่อของมนุษย์กับทิพย์ก็จะขาดจากกัน  เมื่อกายมนุษย์ไม่เนื่องกับกายทิพย์ได้แล้ว กายมนุษย์ก็ต้องตายทันที  เมื่อเห็นด้วยตาธรรมกายและรู้ด้วยญาณของธรรมกายว่า ความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้ไม่เที่ยง ไม่แน่นอนจริงแล้ว รู้เห็นตามจริงเช่นนี้ชื่อว่าสัจจญาณ  เมื่อตาธรรมกายเห็นว่าความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เป็นทุกข์จริง เป็นสิ่งสมควรรู้ชื่อว่าบัลลุกิจจญาณ และความทุกข์ทั้งหมดเหล่านี้เราก็ได้พิจารณาเห็นชัดแจ้งรู้ชัดเจนมาแล้ว     ชื่อว่าบัลลุกตญาณ เช่นนี้เรียกว่าพิจารณาทุกขสัจจ์ซึ่งเป็นไปในญาณ 3

        ส่วนดวงสมุทัยนั้นมีอยู่ 3 ดวง อยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ขนาดโตเท่าดวงพระจันทร์ และขนาดเล็กเท่าเมล็ดโพธิ์ เหมือนกันทั้งหมด ซ้อนกันอยู่  สำหรับดวงข้างนอกมีสีดำเข้ม แต่อีก 2 ดวงนั้น ก็ยิ่งมีความละเอียด และความดำมากกว่ากันเข้าไปเป็นชั้นๆ เมื่อเห็นด้วยตาและรู้ด้วยญาณของธรรมกายเช่นนี้ รู้ว่าเพราะสมุทัยนี้จึงทำให้ทุกข์เกิดเป็นของจริงเช่นนี้เรียกว่าสัจจญาณ  เมื่อรู้แล้วพากเพียรละ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรละเช่นนี้ เรียกว่ากิจจญาณ  เมื่อละสมุทัยได้ขาดแล้ว ชื่อว่ากตญาณ เช่นนี้เรียกว่า พิจารณาสมุทัยซึ่งเป็นไปในญาณ 3

       เมื่อสมุทัยเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดูให้รู้ถึงวิธีดับเหตุแห่งทุกข์อันนี้ให้ได้ตลอด ที่เรียกว่านิโรธ  นิโรธนี้เป็นดวงกลมใสอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ขนาดวัดตัดกลาง 5 วา  ขณะเมื่อมีนิโรธแล้ว สมุทัยย่อมหมดไป เหมือนรัศมีของพระอาทิตย์ที่ขจัดความมือให้หายไปฉะนั้น  เมื่อเห็นด้วยตาและรู้ด้วยญาณธรรมกายว่า ความดับไปแห่งสมุทัยเป็นนิโรธจริง ชื่อว่าสัจจญาณ และนิโรธนี้เป็นสิ่งควรทำให้แจ้งชื่อว่าเป็นกิจจญาณ  เมื่อรู้เห็นตลอดแล้วชื่อว่าทำให้แจ้งซึ่งนิโรธแล้วจัดเป็นกตญาณ  เช่นนี้เรียกว่าได้พิจารณาซึ่งนิโรธอันเป็นไปในญาณ 3

       เมื่อทำนิโรธความดับให้แจ้งได้แล้ว ก็จะพึงทำมรรคให้เกิดขึ้น  มรรคนี้ก็คือดวงศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นเอง มีสัณฐานกลมใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก ขนาดเท่ากันกับหน้าตักของธรรมกาย  เมื่อได้เห็นด้วยตาได้รู้ด้วยญาณของธรรมกายแน่ชัดแล้ว รู้แน่ว่าสิ่งนี้เป็นมรรคจริง ชื่อว่าเป็นสัจจญาณ  เมื่อมรรคนี้เป็นของจริงก็เป็นทางควรดำเนินให้เจริญขึ้น ชื่อว่าเป็นกิจจญาณ เมื่อได้รู้เห็นตลอดด้วยตาและญาณของธรรมกายถึงมรรคนี้ว่า ได้ดำเนินให้เจริญขึ้นแล้วนี้ชื่อว่าเป็นกตญาณ เช่นนี้ชื่อว่าได้เห็นมรรคพร้อมทั้งรู้เป็นไปในญาณ 3 ฉะนี้

        เห็นอริยสัจจ์เหล่านี้พร้อมกับเดินสมาสมบัติ เมื่อถูกส่วนเข้าธรรมกายก็ตกสูญเป็นดวงใส วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 วา ในไม่ช้าสูญนั้นก็กลับเป็นธรรมกาย หน้าตักกว้าง 5 วา สูง 5 วา เกศดอกบัวตูมนี้เป็นพระโสดา แล้วธรรมกายพระ             

        โสดานั้นเข้าฌาน ดูอริยสัจจ์ของกายทิพย์ให้เห็นจริงใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว  เมื่อถูกส่วนเข้าธรรมกายพระโสดาก็ตกสูญเป็นดวงใส วัดผ่าศูนย์กลางได้ 10 วา ในไม่ช้าสูญนั้นก็กลับเป็นธรรมกาย หน้าตักกว้าง 10 วา สูง 10 วา เกศดอกบัวตูม นี่เป็นสกิทาคามี แล้วธรรมกายพระสกิทาคามีนั้นเข้าฌานดูอริยสัจจ์ของกายรูปพรหมให้เห็นจริงในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค  เมื่อถูกส่วนเข้า ธรรมกายพระสกิทาคามีก็ตกสูญเป็นดวงใส วัดผ่าศูนย์กลางได้ 15 วา  ในไม่ช้าสูญนั้นก็กลับเป็นธรรมกาย หน้าตักกว้าง 15 วา สูง 15 วา เกศดอกบัวตูม นี่เป็นพระอนาคามี แล้วธรรมกายพระอนาคามีนั้นเข้าฌาน  ดูอริยสัจจ์ของกายอรูปพรหมให้เห็นจริงในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อถูกส่วนเข้า ธรรมกายพระอนาคามีก็ตกสูญเป็นดวงใส วัดผ่าศูนย์กลางได้ 20 วา ในไม่ช้าสูญนั้นก็กลับเป็นธรรมกาย หน้าตักกว้าง 20 วา สูง 20 วา เกศดอกบัวตูม นี่เป็นพระอรหัตต์แล้ว

        ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายของพระโสดาเป็นปฐมฌาน (แบบเดียวกับที่เคยทำมาแล้วในการทำฌาน) ธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายของพระสกิทาคามีเป็นทุติยฌาน  ธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายของพระอนาคามี เป็นตติฌาน ธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายของพระอรหัตต์เป็นจตุตถฌานว่าง ของปฐมฌานประกอบเป็นอากาสานัญจาตนะฌาน รู้ในว่างของทุติยฌานเป็นวิญญาณัญจาตนะฌาน รู้ที่ละเอียดในเหตุว่างของตติยฌาน เป็นอากิญจัญญายตนะฌาน รู้ก็ใช่ไม่รู้ก็ใช่ในเหตุที่ว่างของจตุตถฌาน เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน เข้าสมาบัติทั้ง 8 นี้โดยอนุโลมปฏิโลมจนครบ 7 เที่ยว ธรรมกายก็ตกสูญเข้านิพพานของกายมนุษย์ เดินสมาบัติในนิพพานของกายมนุษย์ครบ 7 เที่ยว กายธรรมก็ตกสูญเข้านิพพานของกายทิพย์ เดินสมาบัติในนิพพานของกายทิพย์ครบ 7 เที่ยว กายธรรมก็ตกสูญ เข้านิพพานของกายรูปพรหม เดินสมาบัติในนิพพานของกายรูปพรหมครบ 7 เที่ยว กายธรรมก็ตกสูญ เข้านิพพานของกายอรูปพรหม เดินสมาบัติในนิพพานของกายอรูปพรหมครบ 7 เที่ยว กายธรรมก็ตกสูญ เข้านิพพานของกายธรรมทีเดียว

      เวลาจะออกนิพพานของกายธรรม ก็ต้องเดินสมาบัติอีก 7 เที่ยว ตกสูญกลับออกมาถึงนิพพานของกายอรูปพรหม แล้วเดินสมาบัติอีก 7 เที่ยว ตกสูญกลับออกมาถึง นิพพานของกายรูปพรหม แล้วเดินสมาบัติอีก 7 เที่ยว ตกสูญกลับออกมาถึงนิพพานของกายทิพย์ เดินสมาบัติอีก 7 เที่ยว ตกสูญกลับออกมาถึงนิพพานของกายมนุษย์ เดินแบบเดียวกับเวลาเข้าไป

       (สำหรับฌานนั้น ขนาดที่กล่าวแล้ว คือวัดตัดกลาง 2 วา หนา 1 คืบ วัดโดยรอบ 6 วา นั้น เป็นขนาดธรรมดา  แต่เมื่อเวลาที่ถึงขั้นธรรมกายขยายส่วนโตขึ้นแค่ไหน พึงเข้าใจว่าฌานก็จะขยายส่วนโตขึ้นไปตามนั้นได้)

 ลำดับที่ 4

        ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์เป็นสมาบัติ  ที่ตั้งของธรรมคือศูนย์กลางกายนั้นเป็นกสิณ  กสิณมี 10 คือ ดิน 1 น้ำ 1 ไฟ 1 ลม 1 สีเขียว 1 สีเหลือง 1 สีแดง 1 สีขาว 1 แสงสว่าง 1 และอากาศว่าง 1  กสิณเหล่านี้มีลักษณะกลมใสรอบตัว เวลาเดินสมาบัติในกสิณเหล่านี้ ก็จะต้องซ้อนดวงกสิณให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ตั้งแต่ดวงแรกคือดิน น้ำซ้อนอยู่ในดิน ไฟซ้อนอยู่ในน้ำ ลมอยู่ในไฟ สีเขียวอยู่ในลม สีเหลืองอยู่ในสีเขียว สีแดงอยู่ในสีเหลือง สีขาวอยู่ในสีแดง แสงสว่างอยู่ในสีขาว อากาศว่างอยู่ในแสงสว่าง ซ้อนกันเช่นนี้แล้ว  จึงเดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูภพมนุษย์ให้เห็นตลอด  วิธีเดินสมาบัติต้องใช้กายธรรมเดิน

ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นกายอสุรกายเป็นสมาบัติที่ตั้งของธรรมเป็นกสิณ  เดินสมาบัติในกสิณตรวจดูภพอสุรกายให้เห็นตลอด

ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นกายเปรตเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของธรรมที่เป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูภพเปรตให้เห็นตลอด

ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นกายสัตว์เดียรัจฉานเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของธรรมเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูภพเดียรัจฉานให้เห็นตลอด

ประกอบธรรมที่ทำให้เห็นเป็นกายสัตว์นรกเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของธรรมเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณตรวจดูสัตว์นรกให้เห็นตลอด

ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นสัตว์โลกันต์เป็นสมาบัติ ที่ตั้งของธรรมเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูสัตว์โลกันต์ให้เห็นตลอด

ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์เป็นสมาบัติ ที่ตั้งของธรรมเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูภพทิพย์ให้เห็นตลอด

ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของธรรมเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูภพรูปพรหมให้เห็นตลอด

ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นรูปกายอรูปพรหมเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของธรรมเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูภพอรูปพรหมให้เห็นตลอด

ใช้กายธรรมเป็นผู้เดินสมาบัติ ตรวจดูให้รู้ตลอด ไต่ถามและดูให้รู้ว่า เป็นอยู่กันอย่างไร มีอะไรเป็นอาหาร มีอายุนานเท่าไร ดังนี้เป็นต้น

ลำดับที่ 5

ประกอบธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมเป็นรูปฌานและอรูปฌาน  เดินสมาบัติพร้อมกับตรวจดูชาติของตน (เวลาเดินสมาบัติใช้กายธรรมเป็นผู้เดินสมาบัติ) นิ่งอยู่ในศูนย์กลางกาย ดูความเป็นอยู่ตั้งแต่ปัจจุบันนี้ ถอยออกไปถึงเมื่อวาน วานซืน ฯลฯ  และถอยห่างออกไปเป็นลำดับจนถึงเวลาออกจากครรภ์มารดา ก่อนออกครรภ์มารดา จนถึงเวลาที่ยังเป็นกะละละรูป ก่อนเข้าท้องมารดา ก่อนมาเข้าอยู่ภายในกายของบิดา ถอยออกไปจนถึงชาติก่อน ดูถอยออกไปเรื่อยๆ เช่นนี้จนถึงแรกได้ปฐมวิญญาณแล้วถอยกลับมา (แบบเวลาเข้าไป) จนถึงปัจจุบัน  แล้วดูต่อไปในชาติข้างหน้าอีก ดูชาติของตนให้เห็นตลอด เช่นนี้เรียกว่าปุพเพนิวาสญาณ

ดูของตนเห็นตลอดแล้วเช่นไร เวลาดูของผู้อื่นก็เอาธรรมที่ทำให้เป็นกายของผู้นั้นประกอบเป็นสมาบัติเดินสมาบัติตรวจดู  แบบเดียวกันกับที่ดูของจนเองให้ตลอด เช่นนี้เรียกว่าจุตูปปาญาณ

ลำดับที่ 6

ประกอบดวงธรรมที่ทำให้เป็นภพ 3 เป็นรูปสมาบัติว่างของธรรมนั้นประกอบเป็นอรูปสมาบัติ ที่ตั้งของธรรมที่ทำให้เป็นภพ 3 (คือศูนย์กลางภพ) เป็นกสิณ  เดินสมาบัติในกสิณ (กายธรรมเป็นผู้เดินสมาบัติ) ตรวจดูในภพ 3 นี้ ให้เห็นตลอดทั้งข้างนอกข้างใน  ดูความเป็นอยู่ให้ชัดแจ้งตลอด ที่เรียกว่าภพ 3 นั้น คือ อสุรกายเปรต สัตว์เดียรัจฉาน นรก 8 ขุม ต่อมาก็มีมนุษย์ 1 สวรรค์ 6 ชั้น รูปพรหม 16 ชั้น อรูปพรหม 4 ชั้น  ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า ภพ 3

ประกอบดวงธรรมที่ทำให้เป็นโลกันต์เป็นรูปสมาบัติ  เหตุว่างของธรรมเป็นอรูปสมบัติ ที่ตั้งของธรรมที่ทำให้เป็นโลกันต์เป็นกสิณ กายธรรมเข้าเดินสมาบัติในกสิณ  ตรวจดูโลกันต์ให้เห็นตลอดทั้งข้างนอกข้างในโลกันต์นี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากภพ 3 คือต่ำลงไปจากอเวจีนรกขุมที่ 8 นั้นออกไปจนนอกภพข้างล่าง ไกลหาประมาณมิได้ มีอายตนะหนึ่งอยู่ที่นั่น เรียกว่าโลกันต์

ประกอบดวงธรรมที่ทำให้เป็นนิพพานเป็นรูปสมาบัติ เหตุว่างของธรรมเป็นอรูปสมาบัติ ที่ตั้งของธรรมเป็นกสิณ  กายธรรมเข้าเดินสมาบัติในกสิณ  ตรวจดูนิพพานให้เห็นตลอดทั้งข้างนอกข้างในให้หมดสงสัย  นิพพานนี้เป็นอายตนะหนึ่ง คือ สูงกว่าภพ 3 ขึ้นไปจากเนวสัญญานาสัญญายตนะออกไปนอกภพไกลจนหาประมาณมิได้ ที่นั่นเรียกว่า อายตนะนิพพาน

ลำดับที่ 7

ให้ดูดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม ในดวงธรรมมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติฌาณทัสสนะ พอสุดวิมุตติฌาณทัสสนะ ก็มีกายมนุษย์ที่ละเอียด  ดูดวงธรรมของกายมนุษย์ที่ละเอียดนั้น ในดวงธรรมก็มีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ต่อจากนั้นก็มีกายทิพย์ที่ละเอียด ดูดวงธรรมของกายทิพย์ละเอียด ในดวงธรรมมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ  ต่อไปก็มีกายรูปพรหมที่ละเอียด มีดวงธรรม ในกลางดวงธรรมมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วุมุตติญาณทัสสนะ  ต่อไปก็มีกายอรูปพรหมที่ละเอียด มีดวงธรรม ในกลางดวงธรรมมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ  ต่อไปก็ถึงกายธรรมที่ละเอียด มีดวงธรรม ในกลางดวงธรรมมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ  ต่อจากนั้นก็ถึงกายที่ละเอียดเข้าไปอีก ดูเข้าไปโดยนัยนี้จนกระทั่งถึงกายที่ละเอียดที่สุด ที่เรียกว่ากายละเอียด  แล้วก็ถอยออกมาแบบเดียวกับตอนเข้าไป ดูถอยออกไปจนหยาบเลยกายมนุษย์ออกไป ถอยออกไปเรื่อยจนถึงกายใหญ่ที่สุด มีเนื้อหนังหยาบ เส้นขนเส้นผมใหญ่โตมาก ที่เรียกว่ากายสุดหยาบ (ดวงเหล่านี้ก็ซ้อนกันอยู่เช่นเดียวกับที่เคยดูมาแล้ว)

ลำดับที่ 8

ให้นับกายสุดหยาบสุดละเอียดว่ามีกี่กาย ตามแบบวิธีนับอสงไขย คือ นับแต่แผ่นดินเกิดขึ้นแล้วประลัยไปจึงถึงศีร์ษะ  แผ่นดินเกิดขึ้นใหม่เป็นหนึ่งถึงสิบ-ร้อย-พัน-หมื่น-แสน

ร้อยแสน                                  เป็น                  โกฏิ

ร้อยแสนโกฏิ                            เป็น                  ปโกฏิ

ร้อยแสนปโกฏิ                         เป็น                  โกฏิปโกฏิ

ร้อยแสนโกฏิปโกฏิ                  เป็น                  นหุต

ร้อยแสนนหุต                           เป็น                  นินนหุต

ร้อยแสนนินนหุต                      เป็น                  อักโขภินี

ร้อยแสนอักโขภินี                     เป็น                  พินทุ

ร้อยแสนพินทุ                           เป็น                  อัพภุทะ

ร้อยแสนอัพภุทะ                       เป็น                  นิรพุทะ

ร้อยแสนนิรพุทะ                        เป็น                  อหหะ

ร้อยแสนอหหะ                          เป็น                  อพพะ

ร้อยแสนอพพะ                           เป็น                  อฏฏะ

ร้อยแสนอฏฏะ                           เป็น                  โสคันธิกะ       

ร้อยแสนโสคันธิกะ                     เป็น                  อุปละ

ร้อยแสนอุปละ                           เป็น                  กมุทะ

ร้อยแสนกมุทะ                          เป็น                  ปทุมะ

ร้อยแสนปทุมะ                          เป็น                  ปุณฑริกะ

ร้อยแสนปุณฑริกะ                    เป็น                  อกถานะ

ร้อยแสนอกถานะ                      เป็น                  มหากถานะ

ร้อยแสนมหากถานะ                 เป็น                  อสงไขยหนึ่ง

ลำดับที่ 9

ขยายดวงเห็นจำคิดรู้ให้ตลอดสุดหยาบสุดละเอียด

ดวงเห็นของกายมนุษย์ ตั้งอยู่ในกลางกายของมนุษย์ มีลักษณะกลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ประกอบดวงเห็นนี้เป็นสมาบัติ ที่ตั้งของดวงเห็นคือศูนย์กลางกายเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณให้ใส  ขยายดวงเห็นของมนุษย์ให้เท่ากับของกายธรรม

ดวงจำของมนุษย์ซ้อยอยู่ในกลางดวงเห็น มีลักษณะกลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าดวงตาขาวทั้งหมด ประกอบดวงจำนี้เป็นสมาบัติ ที่ตั้งของดวงจำ คือ ว่างกลางดวงธรรมนั้นเป็นกสิณ  เดินสมาบัติในกสิณให้ใส ขยายดวงคิดของมนุษย์ให้เท่ากับของกายธรรม

ความคิดของมนุษย์ซ้อนอยู่ในกลางว่างของดวงจำมีลักษณะกลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าดวงตาขาวทั้งหมด ประกอบดวงจำนี้เป็นสมาบัติ ที่ตั้งของดวงจำ คือว่างกลางดวงเห็นนั้นเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณให้ใส ขยายดวงจำของมนุษย์ให้เท่ากับ        ของกายธรรม

ดวงคิดของมนุษย์ซ้อนอยู่ในกลางว่างของดวงจำนี้มีลักษณะกลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าดวงตาดำข้างนอก ประกอบดวงคิดนี้เป็นสมาบัติ ที่ตั้งของดวงคิดคือว่างกลางดวงจำนั้นเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณให้ใส ขยายดวงคิดของมนุษย์ให้เท่ากับของกายธรรม

ดวงรู้ของมนุษย์ซ้อนอยู่ในกลางที่ว่างของดวงคิด มีลักษระกลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าแววตาดำข้างใน ประกอบดวงรู้นี้เป็นสมาบัติ ที่ตั้งของดวงรู้ คือว่างกลางดวงคิดนั้นเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณให้ใส ขยายดวงรู้ของมนุษย์ให้เท่ากับของกายธรรม

ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเพียงดวงเห็นจำคิดรู้ของกายมนุษย์ ส่วนดวงเห็นดวงจำดวงคิดดวงรู้ของกายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรม ตลอดจนกายสุดหยาบสุดละเอียด ก็ต้องขยายแบบเดียวกันกับกายมนุษย์ที่กล่าวมาแล้ว

ลำดับที่ 10

ทำอายตนะให้เป็นทิพย์ในธรรม

ประกอบแก้วตาเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของแก้วตาเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ใช้ตามนุษย์มองดูสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะลี้ลับเพียงไร ใกล้ไกลแค่ไหนทั้งของมนุษย์ทิพย์ธรรมให้เห็นตลอดเรียกว่าตาทิพย์ในธรรม

ประกอบแก้วหูทั้งหมดเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของแก้วหูเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณใช้หูมนุษย์ฟังเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะลี้ลับเพียงไร ทั้งของมนุษย์ ทิพย์ ธรรม ให้ได้ยินตลอด เรียกว่าหูทิพย์ในธรรม

ประกอบด้วยแก้วจมูกทั้งหมดเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของแก้วจมูกเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ใช้จมูกมนุษย์ดมกลิ่นต่างๆ ทั้งลี้ลับใกล้ไกลของมนุษย์ ทิพย์ธรรมให้ได้กลิ่นตลอด เรียกว่าจมูกทิพย์ในธรรม

ประกอบแก้วด้วยลิ้นทั้งหมดเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของแก้วลิ้นเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ใช้ลิ้นมนุษย์ลิ้มรสต่างๆ ทั้งลี้ลับเปิดเผย ทั้งของมนุษย์ ทิพย์ ธรรม ให้รู้รสตลอด เรียกว่าลิ้นทิพย์ในธรรม

ประกอบแก้วกายทั้งหมดเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของแก้วกายเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณ ใช้กายมนุษย์สัมผัส เครื่องสัมผัสที่วิเศษประณีตของมนุษย์ ทิพย์ ธรรมได้ตลอดเรียกว่ากายทิพย์ในธรรม

ประกอบแก้วใจทั้งหมดเป็นสมาบัติ ที่ตั้งของแก้วใจเป็นกสิณ เดินสมาบัติในกสิณให้ใจรู้อาราณ์ต่างๆ ทั้งของมนุษย์ ทิพย์ธรรม ของตนของผู้อื่นได้ตลอด เรียกว่าใจทิพย์ในธรรม

ลำดับที่ 11

ดูดวงบุญดวงบาปดวงไม่บุญไม่บาป ให้เห็นตลอดหมดทุกกาย

ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของแต่ละกาย  มีดวงกลมซ้อนกันอยู่ 3 ดวง  ดวงแรกมีสีเทาๆ อยู่ข้างนอก ได้แก่ดวงอพยาหรือธรรมกลาง ถัดเข้าไปในกลางดวงของธรรมกลางนั้น มีอีกดวงหนึ่งสีดำใสดุจนิจ  นั่นคือธรรมดำหรืออกุศลธรรม  ส่วนดวงที่ 3 ซึ่งซ้อนกันอยู่ในกลางดวงธรรมดำนั้น มีสีขาวใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก นั่นคือธรรมขาวหรือกุศลธรรม  ธรรมขาวนี้ก็คือดวงบุญ ธรรมดำคือดวงบาป ธรรมกลางคือดวงไม่บุญไม่บาป บุญบาปและไม่บุญไม่บาปนี้มีขนาดของดวงไม่คงที่ บางคนก็มีดวงบาปโตบางคนก็มีดวงบุญโต  ส่วนผู้ที่ไม่นิยมทำบุญทำบาป ก็มีดวงไม่บุญไม่บาปโต มีบุญมาก บาปและไม่บุญไม่บาปก็มีย้อย  ถ้าบาปมาก บุญและไม่บุญไม่บาปก็ย่อมจะมีน้อยดังนี้เป็นต้น

ดวงบุญบาปไม่บุญไม่บาปนี้ แต่ละดวงก็มีธาตุมีธรรม  ส่วนที่เห็นปรากฏนั้นเป็นส่วนธาตุ  ธรรมนั้นซ้อนอยู่ในว่างกลางธาตุอีกทีหนึ่ง เพราะละเอียดกว่าประณีตกว่า

เอาธาตุของดวงบุญประกอบเป็นกสิณ ธรรมของดวงบุญเป็นสมาบัติ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูธรรมขาว (กุศลธรรม) ให้เห็นตลอดจนถึงภพ

เอาธาตุของดวงบาปประกอบเป็นกสิณ  ธรรมของดวงบาปเป็นสมาบัติ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูธรรมดำ (อกุศลธรรม) ให้เห็นตลอดจนถึงภพ

เอาธาตุของดวงไม่บุญไม่บาป ประกอบเป็นกสิณ ธรรมของดวงไม่บุญไม่บาปเป็นสมาบัติ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดธรรมกลาง (อพยากฤต) ให้เห็นตลอดจนถึงภพ

ในธรรมขาว ดำ กลาง เหล่านี้ แต่ละธรรมก็มีนิพพาน ภพ 3 โลกันต์เหมือนกัน พวกนี้ต้องตรวจดูให้ละเอียด

ลำดับที่ 12

ตรวจดูบารมี 10 ทัศ อุปบารมี 10 ทัศ ปรมัตถบารมี 10 ทัศ

บุญที่เกิดจากการบริจาคทานนั้น เมื่อบริจาคบ่อยครั้งเข้า รวมกันได้ขนาดโตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 1 คืบ หรือขนาดเท่าดวงพระจันทร์  ดวงบุญนั้นจะกลั่นตัวเองเป็นบารมี ที่เรียกว่าทานบารมีได้ดวงทานบารมีราวๆ วัดตัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว และดวงทานบารมีนี้มีมากขึ้น จนวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 1 คืบ หรือขนาดเท่าดวงพระจันทร์แล้วก็จะกลั่นตัวเองเป็นบารมีที่สูงกว่านั้น คือเรียกว่าทานอุปบารมี  ได้ดวงทานอุปบารมีราวๆ วัดตัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้  1 นิ้ว และดวงทานอุปบารมีนี้ เมื่อมีมากขึ้นจนวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 1 คืบ หรือขนาดเท่าดวงพระจันทร์แล้ว ก็จะกลั่นตัวเองเป็นบารมีที่สูงสุด คือทานปรมัตถบารมี ได้ดวงทานปรมัตถบารมีราวๆ  1 นิ้ว

ส่วนบุญที่เกิดจากการรักษาศีล การออกจากกาม ความมีปัญญา ความเพียร ความอดทน ความสัตย์จริง ความตั้งมั่น ความเมตตา ความมีอุเบกขา เหล่านี้ เมื่อบุญแต่ละอย่างๆ มีจำนวนมากขึ้นได้ขนาดที่จักกลั่นตัวเองแบบทานที่กล่าวแล้ว ก็จักกลั่นตัวเองเป็นบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี  บุญและบารมีทั้ง 3 นี้ จึงเป็นเหตุผลแก่กันดังนี้

ต่อเมื่อไรบุญเหล่านี้ขยายส่วนกลั่นตัวเอง เป็ยบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี ได้เต็มจำนวนวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 1 คืบ เสมอกันหมดแล้ว  สำหรับผู้ที่ปรารถนาเพียงนิพพานโดยการเป็นพระอริยสาวกองค์ใดองค์หนึ่ง  บารมีเพียงนี้ก็จะทำให้บรรลุความเป็นปกติสาวกได้  ส่วนผู้ที่ปรารถนาจะสร้างบารมี เป็นพระอสีติมหาสาวก พระอรรคสาวก และพระพุทธเจ้าเหล่านี้ ก็ต้องสร้างบารมีแต่ละบารมีให้มีส่วนโตกว่าจำพวกแรกนี้ขึ้นไปเป็นลำดับ

บารมีนี้ อยู่ในศูนย์กลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทุกกาย

ในดวงทานบารมี มีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ประกอบดวงเหล่านี้เป็นสมาบัติ ประกอบดวงทานบารมีเป็นกสิณ 10 เดินสมาบัติในกสิณ

ในเมื่อดวงทานบารมีประกอบไปแล้วเช่นนี้ ดวงอื่นๆ คือศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี เหล่านี้ต่างก็มี ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เช่นเดียวกัน  เราก็ต้องประกอบเป็นสมาบัติและกสิณ 10 เดินสมาบัติในกสิณไปทีละบารมีจนครบ 10 ทัศ

ส่วนพวกอุปบารมีและปรมัตถบารมี ก็ทำไปเช่นเดียวกันทุกบารมี  ทำตลอดทุกกายจนสุดหยาบสุดละเอียด

ลำดับที่ 13

เข้านิพพานเป็นและนิพพานตาย ตลอดจนสุดหยาบสุดละเอียด

ประกอบด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระโสดา เป็นปฐมฌาน

ประกอบดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระสกิทาคามี เป็นทุติยฌาน

ประกอบดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคามี เป็นตติยฌาน

ประกอบดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตต์ เป็นจตุตถฌาน

ประกอบเหตุว่างของปฐมฌาน เป็นอากาสานัญจายตนะฌาน

ประกอบรู้ในเหตุว่างของทุติยฌาน เป็นวิญญาณัญจายตนะฌาน

ประกอบรู้ที่ละเอียดในเหตุว่างของตติยฌาน เป็นอากิญจัญญายตนะฌาน

ประกอบรู้ก็ใช่ไม่รู้ก็ใช่ในเหตุว่างของจตุตถฌาน เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน

แล้วเดินสมาบัติทั้ง 8 นี้ 7 เที่ยว ตกสูญ เข้านิพพานในศูนย์กลางกายมนุษย์ เรียกว่านิพพานเป็นของมนุษย์  เดินสมาบัติในนิพพานเป็นของมนุษย์อีก 7 เที่ยว ตกสูญ เข้านิพพานในศูนย์กลางภพมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า นิพพานตายของมนุษย์ เดินสมาบัติในนิพพานตายของมนุษย์อีก 7 เที่ยว ตกสูญ เข้านิพพานเป็นของทิพย์ ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางกายทิพย์  เดินสมาบัติอีก 7 เที่ยว ตกสูญ เข้านิพพานตายของทิพย์ ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางภพทิพย์  แล้วเดินสมาบัติอีก 7 เที่ยว ตกสูญ เข้านิพพานเป็นของกายรูปพรหม ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางกายรูปพรหม  เดินสมาบัติอีก 7 เที่ยว ตกสูญ เข้านิพพานตายในศูนย์กลางภพรูปพรหม  เดินสมาบัติอีก 7 เที่ยว ตกสูญ เข้านิพพานเป็นในศูนย์กลางกายอรูปพรหม เดินสมาบัติอีก 7 เที่ยว ตกสูญ เข้านิพพานตายในศูนย์กลางภพอรูปพรหม  เช่นนี้เรื่อยเข้าไปจนสุดละเอียด แล้วถอยออกมาแบบเดียวกับเวลาเข้าไป  พอถึงมนุษย์ก็ถอยออกไปจนสุดหยาบ เช่นนี้เรียกว่า เข้านิพพานเป็นและนิพพานตายจนสุดหยาบสุดละเอียด

ลำดับที่ 14

ดูกายสิทธิ์ในดวงแก้ว (เป็นปกิณณกะ)

ให้เอาดวงแก้วที่ถืออยู่ในมือนั้น เข้าไปไว้ในสุดละเอียด (ศูนย์กลางกาย)  หยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงแก้ว  ขยายให้ดวงแก้วนั้นโตขึ้น ก็จะแลเห็นกายที่อยู่ในดวงแก้วนั้นได้ถนัด  เมื่อต้องการจะรู้ด้วยเรื่องอะไรก็ถามได้จากกายที่อยู่ในนั้นได้  กายนี้เองที่เรียกว่า “กายสิทธิ์”

ลำดับที่ 15

ภาคผู้เลี้ยง

ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้น มีกายผู้เลี้ยงมนุษย์คอยดูแลความเป็นอยู่ของมนุษย์ (ไม่ใช่กายทิพย์) นิ่งลงไปในกลางกายผู้เลี้ยงมนุษย์ ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นผู้เลี้ยงมนุษย์ ในกลางดวงธรรมมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ซ้อนกันเข้าไปเป็นลำดับๆ เช่นเดียวกับของมนุษย์ที่เคยดูมาแล้ว

พอสุดดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็ถึงกายผู้เลี้ยงทิพย์กลางกายมีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายผู้เลี้ยงทิพย์  กลางดวงธรรมมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

พอสุดดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็ถึงกายผู้เลี้ยงรูปพรหม กลางกายมีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายผู้เลี้ยงรูปพรหม  กลางดวงธรรมมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

ต่อจากวิมุตติญาณทัสสนะ ก็ถึงกายผู้เลี้ยงอรูปพรหม กลางกายมีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายผู้เลี้ยงอรูปพรหม  กลางดวงธรรมมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

ต่อจากดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็ถึงกายผู้เลี้ยงธรรมกาย  กลางกายมีดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายของผู้เลี้ยงธรรมกาย กลางดวงธรรมมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

ทำต่อไปแบบนี้จนถึงสุดละเอียด แล้วก็ถอยออกมาหาสุดหยาบ  ดูกายของผู้เลี้ยงให้เห็นตลอดสุดหยาบสุดละเอียดเช่นนี้

สำหรับวิชาภาคผู้เลี้ยง นี้ก็ทำแบบเดียวกันกับที่ทำมาแล้วในภาคมนุษย์ทั้งหมด

นิพพาน

นิพพานเป็นอายตนะหนึ่ง ซึ่งแตกต่างออกไปจากโลกายตนะและอายตนะทั้ง 6 ทั้ง 12 นั้น เป็นอายตนะที่สูงกว่าวิเศษกว่าและประณีตกว่าอายตนะอื่น  แต่ก็ทำหน้าที่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือ โลกายตนะ ทำหน้าที่ดึงดูดสัตว์โลกที่ยังมีความผูกพันอยู่กับโลกไว้ไม่ให้พ้นไปจากโลกได้  ส่วนอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ทำหน้าที่ดึงดูด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ตามหน้าที่ของตนๆ และในทำนองเดียวกัน  อายตนะนิพพานก็มีหน้าที่ดึงดูดพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เข้าไปสู่อายตนะของตน  สถานอันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าเรียกว่า อายตนะนิพพาน  ส่วนพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในอายตนะนิพพานนั้น เรียกว่า “พระนิพพาน”

อายตนะนิพพาน มีลักษณะกลมรอบตัวขาวใสบริสุทธิ์จนกระทั่งมีรัศมีปรากฏ ขนาดของอายตนะนิพพานนั้นวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ราว 141 ล้าน 3 แสน 3 หมื่น (141330000) โยชน์ ขอบของอายตนะนิพพานหนาด้านละ 15120000 โยชน์ รวบขอบทั้ง 2 ด้าน เป็น 30240000 โยชน์  ขอบนี้ก็กลมรอบตัวเช่นเดียวกัน  ส่วนเนื้อที่อยู่ในขอบเท่าไรเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น  ในนิพพานเป็นสถานที่โอ่โถงปราศจากสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น  สว่างไสวไปด้วยรัศมีธรรมอันโชติช่วงปราศจากความสว่างจากรัศมีอื่นใด  แต่เป็นธรรมรังษีที่เกิดจากความใสบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสและอวิชชาทั้งปวงนั่นเอง

ในปาฏลิคามิวัคคอุทานฯ กล่าวไว้ว่า “อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนฺ ฯลฯ”

ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ที่ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีเลย อากาสานัญจายตนะ  วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็มิใช่ โลกนี้ก็มิใช่ โลกอื่นก็มิใช่ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองก็มิใช่  อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวเลย ซึ่งอายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการยืน เป็นการจุติ เป็นการเกิด อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้นั่นแลที่สุดแห่งทุกข์

อายตนะในที่นี้ ก็หมายถึง “อายตนะนิพพาน” ดังได้กล่าวแล้วว่าอายตนะนิพพานนั้น ต่างหากออกไปจากอายตนะพวกอื่น  อายตนะนิพพานนี้มีอยู่ สูงขึ้นไปจากภพ 3 นี้ เลยออกไปจากขอบเนวสัญญานาสัญญายตนะภพ  พ้นออกไปจากวิถีภพนี้ตรงขึ้นไปทีเดียว  จะคำนวณระยะทางก็เห็นว่าหาประมาณมิได้ทีเดียว ไม่ได้มีอยู่ในดิน น้ำ ไฟ ลม  และดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ไม่ได้อยู่ในนิพพาน ในอรูปภพทั้ง 4 ก็มิใช่  แม้นิพพานก็มีลักษณะของอรูปภพทั้ง 4 นี้เลยในโลก โลกอื่นก็มิใช่ เพราะเหตุที่อายตนะนิพพานพ้นไปจากโลกจากภพคือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพเหล่านี้สิ้นแล้ว  นิพพานก็มิใช่สิ่งเหล่านี้  แม้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในภพนี้ นิพพานจึงมิใช่สิ่งทั้งสอง และที่สุดสิ่งทั้งสองนี้ก็มิได้มีอยู่ในนิพพานเลย  อนึ่งอายตนะนิพพานก็ไม่มีการไป การมา การยืน การจุติหรือการเกิดแต่ประการใดประการหนึ่ง  ซึ่งแสดงว่าไม่สามารถติดต่อกันได้โดยอาการปกติแม้ที่สุดกำลังของอรูปฌานก็ไม่อาจไปถึงได้ เพราะว่านิพพานจัดเป็นกำลังสูงสุดเกินกำลังของผู้ที่อยู่ในภพจะไปถึงได้  และอายตนะนี้ก็หาที่ตั้งอาศัยมิได้ ไม่มีวัตถุหรืออารมณ์ชนิดใดเป็นที่ตั้งเป็นที่อาศัยทั้งสิ้น  สิ่งเหล่านี้เองเป็นเครื่องยืนยันว่าอายตนะนิพพานนั้นมีจริง และไม่เกี่ยวข้องอยู่ในภพเลย พ้นออกไปต่างหากทีเดียว

อนึ่ง นิพพาน 3 คือ กิเลสนิพพาน 1 ขันธนิพพาน 1 ธาตุนิพพาน 1 มีความหมายดังนี้ คือ

เมื่อวันเพ็ญวิสาขมาส (กลางเดือน 6) ก่อนพุทธศก 45 ปี พระสิทธัตถกุมารทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ ตัดกิเลสได้ขาดจากใจสิ้น  บรรลุถึงซึ่งพระโพธิญาณ ณ ภายใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ครั้งนั้น  กิเลสาสวะทั้งปวงที่เคยประจำคอยกีดกันพระองค์ ให้ทรงเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารมานับจำนวนหลายหมื่นหลายแสนชาติเป็นอันมากนั้นไม่อาจจะกลับมาสู่พระองค์ได้อีก  ความสิ้นไปแห่งกิเลสาสวะ อันเป็นเครื่องเสียบแทงพระองค์ตลอดมานั้นเรียกว่า “กิเลสนิพพาน”

ความแตกทำลายแห่งขันธ์ของพระองค์ ซึ่งแม้ในชาติใดๆ ก็ตาม ขันธ์ในภพ 3 นี้ก็จะต้องสวมพระองค์ตลอดมา  ความแตกทำลายแห่งขันธ์ในชาติที่สุดนี้ ขันธ์เหล่านี้ก็มิอาจจะสวมพระองค์ได้  และพระองค์ก็มิกลับมาสวมขันธ์เหล่านี้อีกต่อไป เพราะพระองค์ทรงพ้นไปจากขันธ์เหล่านี้แล้ว  ความแตกทำลายแห่งขันธ์นี้เรียกว่า “ขันธนิพพาน”

พระพุทธเจ้าองค์ที่สุดนี้คือพระสมณโคดม  ปัจจุบันนี้พระบรมธาตุของพระพุทธองค์ยังคงอยู่ ไม่สูญสิ้นไปก็ยังไม่เรียกว่าธาตุนิพพาน  ต่อเมื่อใดเสร็จพุทธกิจของพระองค์ที่จะต้องทำในภพนี้แล้ว  ขณะนั้นพระบรมธาตุของพระองค์ก็จะสูญสิ้นไปจากภพนี้  ความสิ้นไปแห่งบรมธาตุนี้เรียกว่า “ธาตุนิพพาน”

 ส่วนนิพพานที่ท่านจำแนกเป็น 2 ประเภทนั้น คือ สอุปาทิเสสนิพพาน 1 อนุปาทิเสสนิพพาน 1  สำหรับพวกทำสมาธิปัจจุบันเรียกกันง่ายๆ อีกแบบหนึ่ง คือ นิพพานเป็น อันตรงกับ สอุปาทิเสสนิพพาน และนิพพานตาย อันตรงกับ อนุปาทิเสสนิพพาน

นิพพานเป็นสถานที่อยู่ของกายธรรมนั้น อยู่ในศูนย์กลางของกายธรรมนั่นเอง  ที่กล่าวนี้หมายความถึงเวลาที่กายมนุษย์ของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่  ใช้กายธรรมเดินสมาบัติ 7 เที่ยว ตามแบบวิธีเดินสมาบัติที่เคยกล่าวไว้แล้วนั้น  กายธรรมก็จะตกเข้าสู่นิพพานในศูนย์กลางกายธรรมนั้น  นิพพานนี้ชื่อเรียกว่า นิพพานเป็น หรือ สอุปาทิเสสนิพพาน เพราะเป็นนิพพานที่อยู่ในศูนย์กลางกายธรรมที่ซ้อนอยู่ในกลางกายอรูปพรหม-การรูปพรหม-กายทิพย์ และกายมนุษย์เป็นลำดับเช่นนี้  ยังอยู่ในกลางของกายที่ยังหมกมุ่นครองกิเลสอยู่ตามสภาพของกายนั้นๆ  ความบริสุทธิ์ของนิพพานที่อยู่ท่ามกลางกิเลสเหล่านี้เองที่เรียกว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” สภาพของนิพพานนี้ก็มีลักษณะกลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก  แต่ทว่านิพพานนี้เป็นนิพพานประจำกายของกายธรรม  จึงมีพระนิพพานหรือพระพุทธเจ้าประทับอยู่เพียงพระองค์เดียว  ความจริงถ้าจะกล่าวตามส่วนและตามลักษณะตลอดจนที่ตั้งแล้ว ก็จะเห็นว่านิพพานเป็นหรือสอุปาทิเสสนิพพานนี้ เป็นที่เร้นอยู่โดยเฉพาะของกายธรรมในเวลาที่ยังมีขันธ์ปรากฏอยู่  นอกจากนั้นสอุปาทิเสสนิพพานยังเป็นทางนำให้เข้าถึง “อนุปาทิเสสนิพพาน” หรือ “นิพพานตาย” อีกด้วย คือเวลาที่ขันธ์ซึ่งรองกายธรรมอยู่นั้นจะสิ้นไป  พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ย่อมจะต้องเดินสมาบัติทั้ง 8  และเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ  ขณะนี้เองเป็นเวลาที่กายธรรมเข้าสู่สอุปาทิเสสนิพพาน ทรงดับสัญญาและเวทนาสิ้นแล้ว  จึงเดินสมาบัติปฏิโลมอีก  คราวนี้กายธรรมก็จะตกสูญเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานซึ่งมีลักษณะรูปพรรณสัณฐานและขนาดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

ส่วน “พระนิพพาน” นั้น คือกายธรรมที่ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว  กายเหล่านี้มีกาย, หัวใจ, ดวงจิตต์ และดวงวิญญาณวัดตัดกลาง 20 วาเท่ากันทั้งสิ้น หน้าตักกว้าง 20 วา สูง 20 วา เกศดอกบัวตูมขาวใสบริสุทธิ์ มีรัศมีปรากฏ  พระนิพพานนี้ประทับอยู่ในอายตนะนิพพาน  บางพระองค์ที่เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ก็ทรงประทับอยู่ท่ามกลางพระอรหันตสาวกบริวารเป็นจำนวนมาก  บางพระองค์ที่เป็นปัจเจกพุทธเจ้ามิได้เคยสั่งสอนหรือโปรดผู้ใดมาก่อนในสมัยที่ยังมีพระชนม์อยู่ องค์นั้นก็ประทับโดดเดี่ยวอยู่โดยลำพัง หาสาวกบริวารไม่ได้  ส่วนรังสีที่ปรากฏก็เป็นเครื่องบอกให้รู้ถึงการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เหล่านั้นว่า มากน้อยกว่ากันเพียงไร แค่ไหน  แต่ส่วนกว้างส่วนสูงและลักษณะของพระวรกายนั้น เสมอกันหมดมิได้เหลื่อมล้ำกว่ากันเลย  พระนิพพานนี้ทรงประทับเข้านิโรธ สงบกันตลอดหมด  เพราะความเข้านิโรธนี้เป็นความสุขอย่างยิ่ง และความที่อยู่ในนิพพานมีกายอันยั่งยืนนี้เอง ท่านจึงได้กล่าวว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” (ประวัติหบวงพ่อวัดปากน้ำและคู่มือสมภาร,2529)

ธรรมใดซึ่งเป็นสภาพอันประเสริฐ แม้จะตั้งอยู่หรือดำรงอยู่ในสภาพใด สภาพนั้นก็คือธรรม หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท ได้รับและนำธรรมอันประเสริฐเข้าสู่กระแสการปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดคุณูประการแก่ชาติบ้านเมือง สังคมและสาธุชน จึงควรแก่อนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง


ที่มาจาก  http://www.sisaket.ru.ac.th/pra-sisaket/luanpukrueng/dhammakai.htm
 



หน้า 1/1
1
[Go to top]



Copyright © 2011 All Rights Reserved.

วัดชัยชนะสงคราม
( สำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดสงขลา แห่งที่ 10 )
  538 ม.3 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110    
โทร  074-251866     
http://www.watchai.org

e-mail : info@watchai.org